ละครเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์ปีที่ 4” พื้นที่แสดงออกทางความคิดเรื่องความเท่าเทียมของเยาวชนอีสานรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 8 – 10 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสาขาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินกิจกรรมประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์แก่นอีสานวัฒน์ปีที่ 4 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบชิงชนะเลิศ ณ Performing Arts Studio สาขาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยปีนี้ได้มีการกำหนดแนวคิดหลัก คือ “เกิ่ง” เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนอีสานได้แสดงออกทางความคิดเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์

การดำเนินโครงการในปีที่ 4 ยังคงได้รับความสนใจจากเยาวชน นักเรียน และคุณครูจากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วภาคอีสานส่งผลงานเข้าร่วมจำนวนมาก และมีทีมที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายจำนวน 12 ทีม และได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปะการละคร โดยมีทีมคณาจารย์จากสาขาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น จับมือกับคณาจารย์จากภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ และเวิร์คชอปทักษะละครที่สำคัญ อาทิ การเขียนบท การแสดง และกำกับการแสดง ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2565 หลังการอบรมได้มีการพัฒนาผลงานการแสดงของแต่ละทีม โดยมีศิษย์เก่าสาขาการแสดงทำหน้าที่เป็นวิทยากรภายใต้ชื่อ คอร์ทีม (Coreteam) ลงพื้นที่ไปพบกับน้อง ๆ นักเรียนทั้ง 12 โรงเรียน เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลงานละครของน้อง ๆ ให้สามารถสื่อสารความคิดได้อย่างชัดเจน และผลงานละครมีความสมบูรณ์พร้อมนำเสนอต่อผู้ชม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พชญ อัคพราหมณ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ประธานโครงการ ได้กล่าวว่า การดำเนินงานในปีที่ 4 ได้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในหลายด้าน อาทิ การเป็นพื้นที่แห่งการวิจัย โดยทีมคณาจารย์จากภาควิชาศิลปการละคร จุฬาฯ ได้จัดทำโครงการวิจัยสร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วยศิลปะการละคร มุ่งเน้นการออกแบบเนื้อหาและผลิตสื่อต้นแบบศิลปะการละคร เพื่อทดลองใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะละครแก่เยาวชน และคุณครูในโรงเรียนมัธยม ให้สามารถตั้งต้นความคิดในการเล่าเรื่องผ่านการสร้างบท การแสดง และกำกับการแสดงอย่างมีทิศทาง มีแก่นความคิดที่แข็งแรง และสื่อสารสาระผ่านละครไปยังผู้ชมได้ โดยใช้พื้นที่แก่นอีสานวัฒน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาเยาวชนผ่านกระบวนการทำละครที่มีความเข้มข้นแห่งแรกของประเทศไทยเป็นพื้นที่วิจัย

การกำหนดแนวคิด (Theme) เพื่อเป็นแกนในการสร้างเรื่องและเล่าเรื่อง โดยใช้คำว่า “เกิ่ง” เป็นภาษาอีสานที่มีความหมายว่า เท่ากัน ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ทำให้แต่ละทีมมีกรอบคิดในการศึกษา ค้นคว้า สกัด และคัดสรรข้อมูลที่นำมาใช้ในการสร้างเรื่องได้ชัดเจน ทำให้แต่ละทีมเกิดความรู้สึกถึงความเท่าเทียมในด้านการมีประเด็นเดียวกันที่จะนำมาเล่า

รวมไปถึง การพัฒนาคอร์ทีมอย่างเข้มข้นเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานร่วมกับน้อง ๆ เยาวชน และคุณครูในโรงเรียน ด้วยการ Reskill and Upskill ทักษะการเขียนบท การแสดง และกำกับการแสดง จากคณาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร จุฬาฯ ทำให้เห็นว่า โครงการนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าได้กลับมาพัฒนาศักยภาพตัวเองอีกครั้งผ่านบทบาทการเป็นกระบวนกรของโครงการ ”

การนำเสนอผลงานละคร 12 เรื่อง จาก 12 ทีมโรงเรียน (11 จังหวัดในภาคอีสาน) ในรอบชิงชนะเลิศ ดำเนินการระหว่างวันที่ 8 – 10 กรกฎาคม 2565 ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี และเป็นผู้มอบโล่เกียรติยศพร้อมทุนการศึกษาให้แก่ทีมที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวรายงานการดำเนินโครงการและร่วมมอบรางวัลแบบแยกประเภท และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดรสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับโรงเรียนที่เดินทางมานำเสนอผลงานการแสดง

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และภาคีราชบัณฑิต สาขานาฏยกรรม เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์ธรณัส หินอ่อน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดังกมล ณ ป้อมเพ็ชร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ และคุณสุมาลี สุวรรณกร เป็นคณะกรรมการพิจารณาผลงานละครทั้งรอบสัมภาษณ์ และรอบการแสดงจริง

การนำเสนอผลงานละครได้นำเสนอผ่านรูปแบบออนไซต์ใน ณ Performing Arts Studio ซึ่งจำกัดจำนวนผู้เข้าชมภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และนำเสนอผ่าน Live Streaming ในช่องทาง Facebook Fanpage แก่นอีสานวัฒน์ โดยมีผู้เข้าชมถ่ายทอดสดตลอดระยะเวลา 7 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 27,000 คน และมียอดแชร์มากถึง 570 ครั้ง โดยผลการตัดสินละครเยาวชนสร้างสรรค์แก่นอีสานวัฒน์ปีที่ 4 ประกอบด้วย

  • รางวัลชนะเลิศ (ได้รับถ้วยพระราชทานฯ) ได้แก่ ละครเวทีเรื่อง “ขวัญตา” จากโรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ละครเวทีเรื่อง “เปิ๊ด ตุ้ม เปิง” โรงเรียนร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ละครเวทีเรื่อง “เจ้าของ” โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษาจังหวัดสกลนคร
  • รางวัลชมเชย ได้แก่ ละครเวทีเรื่อง “ปรางค์” โรงเรียนบ้านแท่นวิทยา จังหวัดชัยภูมิ และละครเวทีเรื่อง “ฮ่วมฮัก” โรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริม จังหวัดขอนแก่น

 

นอกจากนี้ยังมีรางวัลแบบแยกประเภทอีกหลายรางวัล โดยสามารถติดตามประกาศผลรางวัล และรับชมผลงานการแสดงละครของเยาวชนอีสานทั้ง 12 เรื่อง ได้ที่เพจ “แก่นอีสานวัฒน์”

ข่าว: สุรางคณา เฮ้ามาชัย
ภาพ : ฐัพไทย  ถาวร

Scroll to Top