ศูนย์เพศภาวะศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการประกวดภาพถ่ายสะท้อนความหลากหลายทางเพศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ศูนย์เพศภาวะศึกษาและประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกทั้ง เพื่อสนับสนุนการแสดงออก และการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้เปิดรับภาพถ่ายตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม – 7 มีนาคม 2565 และประกาศผลการประกวดเมื่อ 14 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 107 ผลงาน โดยแบ่งเป็นระดับนักเรียนนักศึกษา จำนวน 87 ผลงาน และระดับประชาชนทั่วไป จำนวน 20 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 11 ผลงาน ดังนี้
ระดับนักเรียนนักศึกษา
– รางวัลชนะเลิศ
ชื่อภาพ Not He, Not She, It’s ‘ME’ โดย กฤติยาณี แสงไชย
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
ชื่อภาพ เราเท่าเทียม โดย ธีระภัทร ศรีวาส
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ชื่อภาพ หลากสีสัน ในที่มืด (Scotophilia)
– รางวัลชมเชย
ชื่อภาพ Toilet of Equality ห้องน้ำเเห่งความเท่าเทียม โดย จักรี สุระพล
ชื่อภาพ อย่ากลัวที่จะเลือกสวมใส่ โดย ธัญชนก แสนโคตร
ระดับประชาชนทั่วไป
– รางวัลชนะเลิศ
ชื่อภาพ ฉันไม่แคร์ โดย ณัฐชาสิตา สังฆโสภณ
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
ชื่อภาพ ความสับสนจากเพศทางเลือก โดย ชญานิน อุตราชา
– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ชื่อภาพ Becoming of the white roses. โดย อาชวิชญ์ อินทร์หา
– รางวัลชมเชย
ชื่อภาพ สีรุ้ง โดย ศักดิ์นิรันดร์ คุ้มเมือง
ชื่อภาพ เริ่มต้น หลากหลาย ยอมรับ โดย อภิวัฒน์ เวียงคำ
– รางวัลยอดนิยม
ชื่อภาพ ความแตกต่างที่ลงตัว โดย รติบดี ฉิมมาลี
ในการตัดสินภาพถ่าย คณะกรรมการใช้เกณฑ์ในการให้คะแนนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความสวยงามและการจัดองค์ประกอบของภาพ สามารถสื่อสารความหมายการสะท้อนความหลากหลายทางเพศ ความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคในการถ่ายภาพ และจำนวน Like และ Share ของภาพที่โพสต์ในหน้าเพจศูนย์เพศภาวะศึกษา
คุณกฤติยาณี แสงไชย ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนักเรียนนักศึกษา แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “หนูและเพื่อน (ศศิกาน แนวตัน ตากล้อง) เป็น Feminist กันทั้งคู่ ก็เลยสนใจกิจกรรมนี้ค่ะ เราใช้พื้นที่เล็ก ๆ ในห้องนอนของเราในการถ่ายรูป สิ่งที่อยากจะสื่อออกไปมากที่สุดจากรูปนี้ก็คงเป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องการให้เพศใดถูกเหมารวมว่าเป็นแบบไหนเท่านั้นเองค่ะ เราแค่หวังว่าภาพของเราจะช่วยโอบกอดเหล่าคนที่ต้องเผชิญหน้ากับสังคมที่ยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร บอกตามตรงว่าเราสองคนไม่ได้พยายามอะไรเลย ไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไร คงเรียกได้ว่าผลงานชิ้นนี้ออกมาจากความรู้สึกอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงของเราล้วน ๆ ค่ะ เราแค่คิดว่าอยากจะบอกโลกว่าอย่างไร และถ่ายออกมาแบบนั้น เป็นความคิดที่เรียบง่ายเท่านี้เองค่ะ”
คุณณัฐชาสิตา สังฆโสภณผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประชาชนทั่วไป ก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมในครั้งนี้อีกเช่นกัน โดยกล่าวว่า “การจัดกิจกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของทุกเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศทางเลือก (LGBTQ) ที่มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับการยอมรับ เขาจึงกล้าที่จะแสดงออก จะเห็นได้จากทุก ๆ ภาพที่ส่งประกวด สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ทุกคนในสังคมได้รับรู้ ได้ยอมรับพวกเขา ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความสามารถ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และที่สำคัญพวกเขาจะเป็นสีสันที่แต่งแต้มให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น เพียงแค่พวกเราใส่ใจที่จะมองพวกเขาด้วยใจ และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข”
นอกจากนี้ ภาพถ่ายที่ส่งเข้าร่วมประกวด ทางศูนย์เพศภาวะศึกษา จะนำไปจัดนิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนความหลากหลายทางเพศในลำดับต่อไป
ข่าว: กาญจนาพร พองพรหม
ภาพ: นนทศักดิ์ สีสุดชา