สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 Isan Creative Festival 2021 ภายใต้เเนวคิด “Isan Crossing: อีสาน โคตรซิ่ง” ในการนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมส่งผลงานนักศึกษา แสดงผลงาน ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น ย่านกังสดาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การจัดเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 ภายใต้เเนวคิด อีสาน โคตรซิ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนการผสานสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาเเละวัฒนธรรมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ เเละนวัตกรรม เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการออกแบบและสร้างเครือข่ายธุรกิจ ของนักสร้างสรรค์ในภาคอีสานและจากภาคอื่น ๆ และเป็นการปลูกฝังแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน คนในชุมชน และประชาชนที่สนใจ
ผศ.ดร.ชนัษฎา จุลลัษเฐียร อาจารย์ประจำวิชา สาขาวิชาการออกแบบ เอกออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ได้นำผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 รายวิชา living textiles และ วิชา Fashion Design processes ของนักศึกษาปี 3 เข้าร่วมแสดงผลงาน ซึ่งก่อนจะมาจัดแสดงอาจารย์หลายท่านได้ให้ความเห็นช่วงประเมินชิ้นงาน อาทิ อาจารย์ณัฐนนท์ ยอดแก้ว อาจารย์ธนกฤต แก้วพิลารมย์ ดูแลในเทอมที่ผ่านมา ผศ.ดร. วาริน บุญญาพุทธิพงศ์ และ อาจารย์ ชวนะพล น่วมสวัสดิ์
“ผลงานที่จัดแสดงมีการนำผ้าทอมือที่นักศึกษาทอขึ้นเองจากการออกแบบลวดลายผ้า ทั้ง 4 ตะกอ 8 ตะกอ รวมไปถึงลายผ้ามัดหมี่ เข้าร่วมส่งผลงานมากกว่า 20 ผืน และส่วนของเครื่องแต่งกายก็จะมี เครื่องแต่งกาย 5 เซตทั้งหมด 10 ชุด ซึ่งนักศึกษาได้มีการคิดตีความ โดยที่นักศึกษานำตนเองเข้าไปอยู่ในบริบทของผู้คนที่อยู่ในสังคมอีสาน ซึ่งปัจจุบันสังคมอีสานมีทั้งรูปแบบที่เป็นเกษตรกรรม ปนกับสังคมเมือง เพราะฉะนั้น การสื่อสาร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ผู้คนในอีสานจะได้พบเจอ ไม่ว่าจะเป็น โลกของอินเตอร์เน็ต โลกของการค้าขาย ร่วมไปถึงสิ่งต่างๆรอบตัวที่มาปะทะ มีปฏิสัมพันธ์ กับพวกเขา จะเป็นสิ่งที่นักศึกษานำมาตีความออกมาเป็นเนื้อหาสาร นำมาสู่การสร้างสรรค์งานออกแบบ”
ผศ.ดร.ชนัษฎา มองว่านอกจาก การนำผลงานนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมใหญ่ครั้งนี้นอกจากจะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริงยังนำไปสู่ การเปิดพื้นที่ต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม สามารถนำไปสู่ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และ การแก้ปัญหาท้องถิ่นอีกด้วย
“ในภาคอีสานของเรามีมรดกภูมิปัญญา วัฒนธรรม อยู่มากมายทั่วทั้งภาค การที่มีนิทรรศการอีสานสร้างสรรค์ขึ้น ทำให้เกิดการจัดการ การประสานความร่วมมือกันหลายฝ่าย ทำให้เกิดเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนผลงานต่างๆ ที่นำมาจัดนิทรรศการ เราจะได้เห็นผลงานจากหลากหลายพื้นที่ ทำให้เห็นตัวอย่างและแนวทาง ที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงาน อาจใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา หรือแก้ปัญหาท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ เห็นแนวทางที่เราจะสามารถเดินไปได้”
“เรารู้ว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่าพันล้านบาท ซึ่ง อุตสาหกรรมอัตลักษณ์ถิ่นอีสาน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน (Isan Entertainment Industry) อุตสาหกรรมการออกแบบและงานฝีมือ (Craft & Design Industry) และอุตสาหกรรมอาหารอีสาน (Isan Gastronomy Industry) ทั้งหมดจะช่วยสร้างให้เกิดการ นำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ มาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เรามีฐานการผลิตอยู่มากมาย เมื่อมีการนำแนวคิดสร้างสรรค์ เข้ามาผนวกใช้ ก็เป็นการสร้างมูลค่ายกระดับสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้มีมูลค่าสูงขึ้น สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ผู้คนในภาคอีสานต่อไปได้อีกในระยะยาว”
ทั้งนี้ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2564 ณ 2 พื้นที่หลัก ของจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ 1. ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ศรีจันทร์ และ 2. ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น ในย่านกังสดาล โดยมีกิจกรรมถ่ายทอดประโยชน์ของการออกแบบ กระตุ้นความคิด และพัฒนาทักษะ ผ่าน 9 กิจกรรมหลัก ประกอบไปด้วย 1การบรรยายเเละเสวนาเเลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ 2การจัดเเสดงผลงานที่ได้รับการพัฒนาแนวคิดและนำเสนอในรูปแบบ Pavilion, Installation เเละ Exhibition 3. กิจกรรมเวิร์คช็อปที่ถ่ายทอดความรู้ กระบวนการความคิด เเละทักษะฝีมือโดยนักสร้างสรรค์ 4. กิจกรรม การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง 5. กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เละการเรียนรู้เรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่น 6. ตลาดนัดสร้างสรรค์ 7. โปรแกรมดนตรีที่เปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ ศิลปิน มาร่วมกันสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ 8. กิจกรรมที่เปิดรับร้านค้าและธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่จัดเทศกาลฯ 9. Open House กิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้สตูดิโอ แกเลอรี ให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้เยี่ยมชมหรือร่วมกิจกรรม
ผู้ที่สนใจสามารถชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cea.or.th/th/single-project/Isan-Creative-Festival-2021
Superb Isan ideas! KKU students’ works at “Isan Crossing”