วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 3 สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคารพิมลกลกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการประชุมหารือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) นำโดย นาย วรพงศ์ ดอกเกี๋ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์ให้บริการ SMEsครบวงจร นาย พงค์ศักดิ์ ภูนิลวาลย์ หัวหน้าส่วนฝ่ายศูนย์ให้บริการ SMEsครบวงจร นาย ขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ ผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SMEsครบวงจร ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่กับสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ วีระ ภาคอุทัย และ ผศ.ดร. เกษม นันทชัย ที่ปรึกษาสถาบันฯ ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้างานยุทธศาสตร์การพัฒนา นาย เกรียงศักดิ์ ภูศรีโสม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และ ผศ. ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการ
การหารือความร่วมมือเริ่มขึ้นโดย โดย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และ ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลการดำเนินงานของสถาบันฯว่า “เราเป็นหน่วยงานที่ทำแผนยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดซึ่งเป็นการทำแผนเฉพาะด้านที่เน้นพื้นที่ และยังมีการทำงานพัฒนาพื้นที่ตามประเด็น เช่นพื้นที่ มข.แก้จน การทำเรื่องของการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยการขอแหล่งทุนวิจัยต่างๆ ซึ่ง สสว.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เราเคยทำงานร่วมกันมาก่อนในเรื่องการท่องเที่ยว สำหรับในเรื่องการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นด้วยการมองว่าการหาแหล่งอาหารใหม่กำลังเป็นที่สนใจ เราจึงทำการศึกษาวิจัยแบบเปรียบเทียบใน2พื้นที่คือบ้านแสนตอกับบ้านฮ่องฮี เพื่อมองหาโอกาสและจุดแข็งในการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ได้มาตรฐานการผลิต GAP เชื่อว่าในปีนี้เราจะมีฟาร์มที่เข้าไปส่งเสริมจนได้มาตรฐานนี้จำนวน 45 ฟาร์ม ได้เข้าไปจัดตั้งกลุ่มสร้างเครือข่ายวิจัยและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ซึ่งทุกอย่างเหมือนว่าจะไปได้ดีเป็นเหมือนต้นน้ำของโครงการ มาถึงวันนี้เรามามองถึงกลางน้ำและปลายน้ำของเรื่องนี้ว่าจะไปต่ออย่างไรซึ่งการมาของ สสว.ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีที่จะมาร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการไปสู่เป้าหมายให้ประชาชนได้มีโอกาสมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
จากนั้น ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้างานยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และ ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอรายละเอียดการดำเนินโครงการและภาพกิจกรรมให้กับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมการตอบข้อซักถามและชี้แจงในประเด็นต่างๆ โดยอาจารย์ วีระ ภาคอุทัย และ ผศ.ดร. เกษม นันทชัย ที่ปรึกษาสถาบันฯ
นาย พงษ์ศักดิ์ ภูนิลวาลย์ หัวหน้าส่วนฝ่ายศูนย์ให้บริการ SMEsครบวงจร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เป็นผู้กล่าวนำการหารือโดยได้กล่าวว่า “ขอขอบคุณสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้การต้อนรับและให้องค์ความรู้ในครั้งนี้ เรื่องของจิ้งหรีดยังเป็นเรื่องใหม่ในส่วนกลาง แต่สำหรับในภาคอีสานแล้วถือว่า มข.ได้เดินหน้าทำเรื่องนี้ไปไกลมากแล้วแล้วยังเป็นการส่งเสริมที่มีมาตรฐาน ซึ่งบทบาทของ สสว.เราสามารถช่วยได้ตั้งแต่กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำเช่น รูปแบบกระบวนการบริหารการจัดการ ไทม์ไลน์การจัดเก็บ การคำนวณต้นทุน และยังรวมถึงการใช้บริการของ Central Lab” โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอประเด็นปัญหากลุ่มคลัสเตอร์จิ้งหรีด ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาที่เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถแก้ไขเองได้ เช่นการขาดมาตรฐานในการจัดการ ปัญหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน องค์ความรู้ในการวางแผนการจัดการ
อาจารย์ วีระ ภาคอุทัย ที่ปรึกษาสถาบันฯได้ให้ข้อคิดในเรื่องของปัญหาอุปสรรคว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดไม่สามารถจะดำเนินการไปได้โดยลำพังต้องมีการสร้างกลไกให้เกิดการรวมกลุ่มการทำงานซึ่งการจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นโจทย์ที่ยากของการส่งเสริม นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือต้นทุนค่าอาหารที่เป็นต้นทุนหลักถึงร้อยละ80ในการเพาะเลี้ยงซึ่งถ้ามีองค์ความรู้ในการผลิตอาหารขึ้นเองได้จะช่วยเกษตรกรได้มาก แต่ทั้งนี้เราอาจต้องเจอกับอุปสรรคของผู้ผลิตอาหารสัตว์ในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ส่วนปัญหาอีกประการคือการกำหนดมาตรฐานฟาร์มที่ยังมีรายละเอียดสูงรวมทั้งการใช้เงินทุนจำนวนมากเกินกว่าเกษตรกรจะดำเนินการได้ จึงอยากให้มีการแบ่งระดับการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมกับการส่งเสริมในระดับชุมชนชาวบ้าน
ที่ประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในหลายประเด็น จากนั้น รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และ ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณะ ได้นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ลงพื้นที่ชมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและการแปรรูป ที่บ้านแสนตอ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปดำเนินการ จนได้รับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดปลอดภัย GAP จำนวน 21 ฟาร์ม ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย
ข่าว – อุดมชัย สุพรรณวงศ์
ภาพ – อุดมชัย สุพรรณวงศ์
– สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ