สำนักข่าว : ryt9
URL : https://www.ryt9.com/s/prg/3200081
วันที่เผยแพร่ : 16 ก.พ. 2564
16
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อการประชุมเรื่องการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันและหนังสือเดินทางสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบล็อกเซน (Immunization Information System and Blockchain-based Health Immunity Passport) ว่า การประชุมหารือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลรูปแบบแผนงานการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันและหนังสือเดินทางสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบล็อกเซน รวมไปถึงการหาแนวทางความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เพื่อนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน โดยการดำเนินการของระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันและหนังสือเดินทางสุขภาพ จะเชื่อมโยงกับด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมไปถึงการเปิดประเทศ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 มีส่วนอย่างยิ่งที่เร่งให้การดำเนินการเรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว
“ในการจัดการโครงการนี้จะมีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะทำงานหลัก โดยตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่งมีอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นที่ปรึกษา ต่อจากนั้นจะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในลำดับถัดไป”
ทั้งนี้แผนการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ แบ่งเป็นทั้งหมด 2 ระยะหลัก ระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ เพื่อใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะที่ 2 ขยายระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ เพื่อใช้สำหรับบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ เมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้วสามารถขยายผลเพื่อใช้สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้
ด้านนายแพทย์ธนภพ ณ นครพนม นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ ว่า เป็นระบบดิจิทัลที่ต้องการพัฒนาให้บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยระบบจะบันทึก จัดเก็บ และตรวจสอบข้อมูลการให้วัคซีน ซึ่งจะมีประโยชน์กับทั้งผู้ได้รับวัคซีนและผู้ให้บริการวัคซีน โดยมีฟังก์ชันการทำงานที่สำคัญ อาทิ
1.ระบบจัดเก็บและบันทึกข้อมูลของภูมิคุมกัน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งผู้ได้รับวัคซีนและผู้ให้บริการวัคซีน
2.ระบบช่วยวิเคราะห์ประเภทวัคซีนที่จำเป็นและเหมาะสมรายบุคคล โดยพิจารณาจากข้อมูลของผู้รับวัคซีน เช่น วัคซีนที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารคัดหลั่งที่อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ รวมไปถึงการแจ้งเตือนการรับวัคซีน วันและเวลาในการรับวัคซีนครั้งถัดไป
3.ระบบออกใบรับรองการได้รับวัคซีน (vaccination certificate)
4.ระบบติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน
5.การให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน เช่น ความเสี่ยงและประโยชน์ของการรับวัคซีน
6.ระบบข้อมูลภูมิคุ้มกันฯ นี้จะพัฒนาโดยอ้างอิงแนวทางขององค์การอนามัยโลก Centers for Disease Control and Prevention ประเทศสหรัฐอเมริกา และ European Centre for Disease Prevention and Control สหภาพยุโรป และพัฒนาบนมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ HL7 FHIR มาตรฐาน W3C Verifiable Credential