สำนักบริการวิชาการ นำบุคลากรผู้ประสานงานพื้นที่ดูงานการปลูกใบบัวบกอินทรีย์ ณ กลุ่มวิสาหกิจปลูกสมุนไพรหนองหญ้าม้า ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เพื่อนำความรู้ไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกเพื่อสร้างอาชีพและรายได้
ผศ.ณํฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการรองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ นำบุคลากรสำนักบริการวิชาการ ผู้ประสานงานพื้นที่โครงการมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน 9 ตำบล ดูงานการปลูกใบบัวบกอินทรีย์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ณ กลุ่มวิสาหกิจปลูกสมุนไพรหนองหญ้าม้า ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เพื่อนำความรู้ไปส่งเสริมเกษตรกร เป็นการสร้างอาชีพและรายได้
ผศ. ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล กล่าวว่า “สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ชุมชน และสำนักบริการวิชาการ ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกใบบัวบกแบบอินทรีย์ แปรรูปเป็นใบบัวบกผง ส่งต่อให้กับคณะเภสัชศาสตร์ ในราคากิโลละ 700 บาท โดยรับซื้อไม่จำกัดจำนวน ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์จะได้นำไปผลิตเป็นเวชสำอางต่อไป”
นายเสถียร ยอดสิงห์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกสมุนไพรหนองหญ้าม้า ได้เล่าถึงวิธีการปลูกใบบัวบกอินทรีย์ ว่า “การปลูกใบบัวบกอินทรีย์ ที่สำคัญคือเราต้องปลูกพืชแนวกันสารพิษรอบแปลง เป็นไม้ยืนต้นหรือกล้วยก็ได้เพื่อป้องกันสารพิษปลิวมาในอากาศ โดยมีขั้นตอนคือ 1) เตรียมดินโดยการไถดินตาก 1 อาทิตย์ ไถพรวนยกแปลง ใส่ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 100 กก./งาน แล้วฉีดพ่นสารอินทรีย์สังเคราะห์แสง ในอัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร 2) นำไหลใบบัวบกปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 1 คืบ 3) รดน้ำวันละ 1 ครั้ง 4) ฉีดพิ่นน้ำหมักสูตรบำรุงใบ (น้ำหมักแม่) ผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หลังปลูก 20 วัน 5) การป้องกันโรค ด้วยการผสมไตรโคเดอร์มาในปุ๋ยหมัก เมื่อพบหนอนกินใบให้พ่นด้วยไส้เดือนฝอย หรือ เชื่อบีที และกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ และ 6) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุครบ 45 วัน”
จากนั้นนายเสถียร ได้เล่าถึงการแปรรูปว่า “หลังเก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาคัดแยกและล้างน้ำปกติ 3 น้ำ และตามด้วยน้ำกรองสะอาด นำไปผึ่งลมให้แห้ง อบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และบดให้ละเอียด แล้วส่งต่อหน่วยงานรับซื้อต่อไป”
ดร.จารุพงศ์ ประสพสุข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ขอนแก่น ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “การปลูกพืชอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สมดุลธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ มีการจัดการระบบนิเวศที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กำจัดวัชพืช ฮอร์โมนสังเคราะห์ต่าง ๆ ไม่ใช้พันธุ์พืชที่ได้รับจากการตัดต่อทางพันธุกรรม เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรง สามารถต้านทานโรค และแมลงได้ด้วยตนเอง กระบวนการผลิตและผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค ไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม”
ทั้งนี้สำนักบริการวิชาการ จะได้นำไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบปลูกใบบัวบกแบบอินทรีย์ให้ได้รับใบรับรองการปลูกพืชแบบอินทรีย์ แปรรูป และส่งต่อให้คณะเภสัชศาสตร์ นำไปผลิตเป็นเครื่องเวชสำอางต่อไป”