สำนักข่าว: ddpostnews
URL: https://www.ddpostnews.com/?p=121310
วันที่เผยแพร่: 1 ก.พ. 2564
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข.พัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (KKBS Lifelong Learning) ในรูปแบบหลักสูตรเรียนปริญญาโทแบบสะสมหน่วยกิต KKBS PRE – MASTER DEGREE โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนรายวิชาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตวิชาเอกการจัดการ ผู้ประกอบการ พาณิชย์และนวัตกรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้สนใจทั่วไปสามารถมาพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Entrepreneur) และการสร้างธุรกิจเริ่มต้น (Startup) พร้อมรับประกาศนียบัตรสามารถนำไปเทียบโอนปริญญาบัตร ในระดับปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิชาเอกการจัดการ ผู้ประกอบการ พาณิชย์และนวัตกรรม คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ ห้องประชุม 1-2 ชั้น 6 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัยพานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีจัดการปฐมนิเทศนักศึกษาหลักสูตร การจัดการศึกษาตลอดชีวิต (แบบรายวิชา)ภายใต้โครงการ “ผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพทางด้านบริหารธุรกิจ” ซึ่งเกิดด้วยความร่วมมือระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คณะนิติศาสตร์ และหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
โดยมี รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข. พร้อมด้วยรศ.วนิดา แสงสารพันธ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารงานวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มข.ตัวแทนผศ. กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มข. ร่วมกล่าวรายงานความเป็นไปวัตถุประสงค์ในการจัดการปฐมนิเทศฯในครั้งนี้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา,รศ.นสพ.ดร.ชูชาติ กมล เลิศ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ,รศ. ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ,ผศ.ณัฐ พัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา, นายประกิต ทองแท่งไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย ตัวแทนจาก 8 องค์กรเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น และสื่อมวลชน ร่วมงาน
โดยเล็งเห็นความจำเป็นในการเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้กับนักกฎหมาย เพื่อให้นักศึกษาทราบถึงแผนการเรียนและกระบวนการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรรวมทั้งสามารถวางแผนการเรียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปแบบของหลักสูตร โดยลักษณะการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้น เป็นการจัดการเรียนการสอนรายวิชาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) วิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการ พาณิชย์และนวัตกรรม ของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ที่มุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างสาขาวิชา เน้นการเรียนรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์โดยตรงจากภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 5 รายวิชา วิชาละ 3 หน่วยกิต ได้แก่ วิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การสำหรับผู้ประกอบการ, วิชาการเงินผู้ประกอบการและการบัญชีบริหาร, วิชาการจัดการกลยุทธ์ธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ, วิชาสัมมนาทางการเป็นผู้ประกอบการ พาณิชย์นและนวัตกรรม และวิชาการสร้างธุรกิจใหม่
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก มีบทบาทหน้าที่ในการอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ การเสริมสร้างความก้าวหน้าและยั่งยืน โดยบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิด KKU Transformation ได้มีการกำหนดทิศทางในการบริหารมหาวิทยาลัยให้พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสรีภาพทางความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้ซึ่งรวมไปถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลสู่สังคม
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวอีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน และประชาชน ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ พัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm Curriculum) ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom) และเน้นการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-Based Education: OBE) โดยเน้นให้มีสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่เพียงพอ ปรับเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ เน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งหวังที่จะสร้างหลักสูตรสำหรับประชาชนเพื่อรองรับเทคโนโลยีในการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยจัดการเรียนรู้เป็นชุดวิชา ซึ่งมีทั้งที่ต้องการปริญญา (Degree) และไม่ต้องการปริญญา (Non-Degree) สามารถเรียนรู้ในหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัยและการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งสามารถเรียนได้ ทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกคน มีระบบให้ผู้เรียนสามารถสะสมชุดวิชาเพื่อรับปริญญาในภายหลังได้
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการปรับตัวของการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เน้นการบูรณาการเรียนรู้และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตสะสมหน่วยกิต (Credit bank) สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ให้สามารถเรียนล่วงหน้าในระดับปริญญาโท โดยนักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้ขณะที่กำลังศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาปริญญาตรีที่มีเป้าหมายในการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท – ปริญญาเอก) สามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง และใช้ระยะเวลาการศึกษาน้อยลง
ส่วนรศ.วนิดา แสงสารพันธ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารงานวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มข.กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรนี้ ออกแบบเพื่อที่จะให้นักศึกษาสามารถสะสมความรู้ได้ตั้งแต่ในระดับชั้นปริญญาตรีล่วงหน้าโดยที่ไม่ต้องไปรอหลังจากจบการศึกษาแล้วก็จะเรียนต่อปริญญาโท เพราะฉะนั้นมันก็เลยถูกออกแบบตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การการรับนักศึกษาแรกเข้า ซึ่งรับแยกต่างหาก จาก การรับปกติ เพราะฉะนั้น ตัวนักศึกษาเองแล้วก็จะมีความรอบรู้ในประเด็นนี้อยู่แล้วว่าตัวเองจะมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการบริหารธุรกิจ ได้ในช่องทางที่แตกต่างจากในสถานศึกษาทั่วไป
รศ.วนิดา กล่าวอีกว่าเพราะในแต่ละสาขาจะถูกพัฒนา ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ภายใต้รูปแบบการเรียนรู้ของคณะนิติศาสตร์ กับคณะบริหารธุรกิจ พร้อมทั้งของหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ที่ร่วมกันออกแบบร่วมกันภายใต้กระบวนการแบบนี้ ทำให้เชื่อว่าในสาขาที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ จะสามารถพัฒนาสกิลอื่นๆนอกเหนือจากทางด้านกฎหมาย จะทำให้ตัว นักศึกษาเองมีโอกาสมีงาน พร้อมทั้งมีโอกาสในการที่จะพัฒนาตัวเอง เข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่กว้างกว่าทั่วไป ดังนั้นโครงการนี้ก็ถือว่าเป็นโครงการเริ่มต้นที่เราคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีโครงการในลักษณะแบบนี้ขึ้นมาอีกแต่อาจจะเป็นสายอื่นๆตามที่น่าสนใจและก็ตอบสนองตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศต่อไป
ด้านรศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข.กล่าวว่า ในการปฐมนิเทศนักศึกษาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตระดับบัณฑิตศึกษา (แบบรายวิชา) ภายใต้โครงการผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพทางด้านบริหารธุรกิจโดยความร่วมมือระหว่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี คณะนิติศาสตร์ และ หอการค้าจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีวัตถุประสงค์ในจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) แบบสะสมหน่วยกิต (Credit bank) ในหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตระดับบัณฑิตศึกษา (แบบรายวิชา) หลักสูตรได้เปิดโอกาสให้นักศึกษานิติศาสตร์ได้มีโอกาสเรียนล่วงหน้าในระดับปริญญาโท ในวิชาด้านบริหารธุรกิจ คู่ขนานวิชาด้านกฎหมาย นับว่าเป็นบริบทใหม่ของการศึกษาไทย ที่ได้มีการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ การเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมกิจกรรมร่วมกัน
รศ.ดร.เพ็ญศรี กล่าวเพิ่มเติมว่าโดยเล็งเห็นความจำเป็นในการเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้กับนักกฎหมาย เพื่อให้นักศึกษาทราบถึงแผนการเรียนและกระบวนการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรรวมทั้งสามารถวางแผนการเรียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปแบบของหลักสูตร โดยลักษณะการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้น เป็นการจัดการเรียนการสอนรายวิชาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) วิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการ พาณิชย์และนวัตกรรม ของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ที่มุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างสาขาวิชา เน้นการเรียนรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์โดยตรงจากภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 5 รายวิชา วิชาละ 3 หน่วยกิต ได้แก่ วิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การสำหรับผู้ประกอบการ, วิชาการเงินผู้ประกอบการและการบัญชีบริหาร, วิชาการจัดการกลยุทธ์ธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ, วิชาสัมมนาทางการเป็นผู้ประกอบการ พาณิชย์นและนวัตกรรม และวิชาการสร้างธุรกิจใหม่
รศ.ดร.เพ็ญศรี กล่าวด้วยว่าสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(KKBS Lifelong Learning) ซึ่งในปีการศึกษา 2564 นี้ ดำเนินการเปิดหลักสูตรแบบแบบสะสมหน่วยกิต (Credit bank) แล้วจำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ โครงการเรียนรู้ล่วงหน้าแบบสะสมหน่วยกิต ระดับ ป. ตรี KKBS PRE B (BACHELOR DEGREE)และ หลักสูตรเรียนปริญญาโทแบบสะสมหน่วยกิต KKBS PRE M (MASTER DEGREE) สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหลักสูตรและคุณสมบัติการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น https://kkbs.kku.ac.th หรือที่คุณรุ่งทิพย์ ขุลีลังก์ โทรศัพท์ 0 4320 2401 ต่อ 48037 อีเมล์ rungkh@kku.ac.th