9 พฤศจิกายน 2562 เวลา 7.00 น. ที่บริเวณพุทธศิลป์สถานและริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีพิธีทำบุญตักบาตรและบูชาอัญเชิญพระอุปคุตเพื่อเบิกฤกษ์ของการจัด “สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค” Sithan KKU Festival 2019 โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธาน พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้บริหาร ตัวแทนคณะหน่วยงาน นักศึกษา และบุคลากรจำนวนมากร่วมในพิธี
พิธีในช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์บริเวณถนนด้านหน้าอาคารพุทธศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อด้วยพิธีบูชาอัญเชิญพระอุปคุต ขึ้นจากบึงสีฐาน โดยรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล เพื่อเข้าสู่ขบวนที่นำโดยเครื่องอัญเชิญบูชาโดยนักศึกษาจากชมรมสมาธิและศีลธรรม และ นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. พร้อมผู้มาร่วมงาน อัญเชิญไปเวียนรอบอาคารพุทธศิลป์ 3 รอบก่อนขึ้นวางบนแท่นบูชา จากนั้นจึงเป็นพิธีสักการะ หลวงพ่อพระศรี50ปี มข. และถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ 9 รูปภายในอาคารพุทธศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในพิธีได้เชิญ ดร.ยุทธพงษ์ มาตย์วิเศษ ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้นำประกอบพิธี
ดร.ยุทธพงษ์ มาตย์วิเศษ กล่าวว่า พระอุปคุต เป็นความเชื่อที่ว่า พระอุปคุตเป็นพระอรหันต์ที่มีฤทธานุภาพในเรื่องการปกปักษ์รักษา ป้องกันภัยร้ายต่างๆและอำนวยอวยพรให้ภาระกิจการงานสำเร็จราบรื่น ซึ่งพระอุปคุตเป็นอรหันต์ที่สันโดษจำพรรษาในท้องสะดือทะเล เคยแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ปรากฏคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้นิมนต์มาปราบเหล่ามารที่จะมาทำลายพิธีกรรมในการสร้างมหาเจดีย์ จนเป็นที่ร่ำลือ ดังนั้นการที่เราจะจัดงานพิธีใด ๆ เช่นงานเทศกาลบุญสมมาบูชาน้ำนั้นจึงได้จำลองมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระอุปคุต ในท้องน้ำบึงสีฐานเพื่ออัญเชิญและแห่องค์พระขึ้นจากน้ำไปยังแท่นบูชาเพื่อความเป็นมิ่งมงคลตลอด 3 วันของการจัดงานตามแบบแผนโบราณประเพณี เป็นการปฐมฤกษ์เบิกชัยการจัดงานครั้งนี้
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เผยว่า ”บุญสมมาบูชานาค”เป็นกิจกรรมสะท้อนให้เห็นเนื้อแท้ของพิธีกรรมที่มาจากคำว่า สมมา คือการ ขอขมา ส่วน บูชา คือการแสดงความเคารพ ดังนั้นงานประเพณีเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่สร้างรากฐานความคิดของการอยู่ร่วมกันของคนอีสานทั้งต่อกันและกันและต่อสิ่งที่อยู่รอบๆตัวที่มีคุณต่อชีวิตสืบทอดกันมาเป็นวัฒนธรรมประเพณี ”สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค” จึงเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า “นาค”และ”น้ำ”คือตัวแทนของสิ่งๆเดียวกันที่เป็นความเชื่อความศรัทธาของผู้คนในแถบนี้ ศิลปวัตถุโบราณทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งความหมายของสินธุ์ที่แปลว่าแม่น้ำลำน้ำ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพแกะสลักที่กลายเป็นแกะสลักรูปพญานาคแทนน้ำตามความหมายความเชื่อ ดังนั้นบูชาพญานาคแห่งสีฐานเฟสติวัลก็เป็นเรื่องที่เราทำได้ เพื่อเป็นการบูชาเป็นการขอบคุณต่อบุญคุณของน้ำที่เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นการบูชาน้ำหรือการบูชาพญานาคซึ่งนอกจากเป็นการขอขมาต่อแหล่งน้ำที่เราใช้เพื่อดำรงชีวิตแล้ว ยังมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้คนที่มีจิตใจงาม ความอุดมสมบูรณ์ ทุกอย่างที่ดีงามของที่นี่จะมารวมกันเป็น”สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค”
“สีฐานเฟสติวัล บุญสมมาบูชานาค” Sithan KKU Festival 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 -11 พฤศจิกายน 2562 ที่บริเวณริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานงานวัฒนธรรมประเพณีของชาติและของท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ให้คงอยู่ยาวนาน ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น ด้วยรูปแบบแนวความคิด “ศรัทธา มหาสนุก ปลุกวิถีวัฒนธรรม”จึงทำให้กิจกรรมภายในงานมีความหลากหลายผสมผสานทั้งงานวันฒนธรรมประเพณี ความสนุกสนานของกิจกรรมการแสดง การออกร้านของนักศึกษา การประกวดขบวนตกแต่งสร้างสรรค์แบบคานิวัล“KKU Carnival” การสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ขายสินค้าพื้นเมือง เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ creative walking street การประประกวดนางนพมาศ และการลอยกระทงในบึงสีฐานที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ข่าว : จิราพร ประทุมชัย
ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์