เก่า แต่ เก๋า ! มข.จัดนิทรรศการ “อาคารสมัยใหม่ Modern Architecture” ชมคุณค่าแห่งอดีต 6 หลัง

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกับ ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดนิทรรศการแสดงผลงาน อาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ใน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ผศ.ดร. ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวรายงาน  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาที่สนใจร่วมกิจกรรม กว่า 30 คน ณ โถงอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นิทรรศการแสดงผลงาน อาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ใน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการศึกษารวบรวมฐานข้อมูลอาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมอาคารสมัยใหม่ ในรูปแบบสองมิติและสามมิติ รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพถ่าย โปสเตอร์ ภาพแบบอาคาร

ผศ.ดร. ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทฤษฎีการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อาคารสมัยใหม่ หรือ Modern Architecture เป็นยุคการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญยุคหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สำคัญระดับประเทศอยู่ในมหาวิทยาลัยโดยที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ ฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในการศึกษาข้อมูลด้านนี้

ผศ.ดร. ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทฤษฎีการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อาคารสมัยใหม่ หรือ Modern Architecture เป็นยุคการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญยุคหนึ่ง ที่ส่งผลต่อการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สำคัญระดับประเทศอยู่ในมหาวิทยาลัยโดยที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ ฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในการศึกษาข้อมูลด้านนี้

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสาน มีอาคารสำคัญที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในระดับชาติ อย่างอาจารย์ อมร ศรีวงศ์ โดย  70 % ของผลงานที่แสดงในนิทรรศการเป็นผลงานของสถาปนิกท่านนี้  ที่ได้ออกแบบอาคารในยุคแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงทศวรรษที่ 1 ระหว่าง พ.ศ. 2507-2516 ที่ในขณะนั้นเปิดการเรียนการสอน 3 คณะวิชา ประกอบด้วยคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ – อักษรศาสตร์ ที่ได้ก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับการใช้งานด้านการเรียนการสอน  นอกจากนี้ในการศึกษายังได้เพิ่มเติม อาคารหอพักเข้าไปด้วยเนื่องจากมีรูปแบบความน่าสนใจที่สอดคล้องกัน   โดยพื้นที่ศึกษาและอาคารกรณีศึกษา ประกอบด้วยอาคารภายในมหาวิทยาลัยทั้งหมด 6 หลัง ได้แก่  อาคาร EN01 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา EN 06 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์   ตึกกลม, อาคารอเนกประสงค์, SC 01 คณะวิทยาศาสตร์    อาคารเรียนและปฏิบัติการ AG01  คณะเกษตรศาสตร์  และ หอพักที่ 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรวบรวมข้อมูลทางสถาปัตยกรรมอาคารสมัยใหม่ จะได้รับความสนใจ พร้อมทั้งได้รับการดูแลรักษาปรับปรุงต่อไปในอนาคต ซึ่งหลายหลังได้รับการปรับปรุงแล้วเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง    สำหรับการแสดงผลงานครั้งนี้มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการติดต่อไปแสดงอีกหลายที่  โดยหลังจากนั้นจะรวบรวบข้อมูลเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อไป”   ผศ.ดร. ชำนาญ กล่าว

ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผศ.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ดำเนินโครงการสำรวจ รังวัดและจัดเก็บข้อมูลอาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งเป็นอาคารที่มีคุณค่าทั้งในด้านของการเรียนรู้ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม และ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“เมื่อเห็นผลงานนิทรรศการแล้วชื่นใจ  เพราะเป็นการปลุกความจำ ความหลังที่มีกับอาคารเหล่านี้ ถึงแม้ว่าบางอาคารจะไม่ได้ใช้ แต่ย่อมเสียดายหากอาคารหลังนั้นจะหายไปจากที่นี่ ฉะนั้นการที่เราจะทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยน่าอยู่ นอกจากเรื่องของการจัดการสภาพแวดล้อมให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี  การมีพื้นที่เพื่อการแสดงออกด้านศิลปะและสุนทรียะ Aesthetic zone ก็เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญ ดังนั้นการที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษารวบรวมฐานข้อมูลอาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รวบรวมฐานข้อมูลอาคารสมัยใหม่ ทั้ง 6 หลังนี้แล้ว จะมีการสำรวจ รังวัด อาคารหลังอื่น ๆ ต่อไป เชื่อว่าข้อมูลทางสถาปัตยกรรมอาคารสมัยใหม่ ของอาคารทรงคุณค่าในมหาวิทยาลัย จะนำไปใช้ดูแลรักษาและปรับปรุงอาคารในอนาคต และยังนำไปสู่ ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป”รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม  กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.นพดล ตั้งสกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.นพดล ตั้งสกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ผู้ร่วมวิจัยในโครงการกล่าวว่า กระแสอาคารยุคโมเดิร์นตอนนี้กำลังได้รับความนิยมมากในประเทศไทยโดยเฉพาะวงการสถาปนิก เนื่องจากพบข้อมูลที่เชื่อมโยงว่าอาคารในยุคนี้ถูกสร้างขึ้นโดย อาจารย์ อมร ศรีวงศ์  สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารในช่วงประเทศพัฒนาเรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยปรากฏผลงานในหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“การออกแบบของสถาปนิกชุดนี้มีอิทธิพลบางอย่างที่เป็นกระแสระดับโลก ที่ทำให้อาคารรุ่นนี้แสดงให้เห็นถึงความงามที่เกิดจากสัจจะของโครงสร้างและวัสดุ ตรงนี้เป็นหลักการที่นักเรียนสถาปัตย์จะต้องรู้  ต่อมาภายหลังสมาคมสถาปนิกสยามเริ่มให้รางวัลอาคารในรุ่นนี้ จึงเกิดกระแสการอนุรักษ์อาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่อายุยังไม่ถึงร้อยปีแต่ได้รับความนิยม เนื่องจากว่ามีผลกระทบเป็นพัฒนาการอันนึงที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลก จึงทำให้การประชุมของสถาปนิกที่มีการประชุมเป็นประจำทุกปีใช้ theme แนวคิดงานเรื่อง heritage หรือ มรดกทางสถาปัตยกรรม ฉะนั้นการที่เราเริ่มทำงานในโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมต่อในภาพใหญ่ได้ เพราะอาคารในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งในระดับประเทศ และคณะทำงานงานยังมองว่ามีผลต่อการอนุรักษ์อาคารที่มีคุณค่า เช่น เมื่อบางคณะอยากจะปรับปรุงอาคารก็จะมีข้อมูลพื้นฐานว่าเวลาจะปรับปรุงควรจะเก็บส่วนที่ดี ส่วนที่มีคุณค่าอย่างไร เช่น เรื่องของโครงสร้าง ในก้าวถัดไปเราอยากจะให้ทีมอาจารย์ที่เป็นทีมงานและนักศึกษาได้มีโอกาสใช้อาคารเหล่านี้เป็นกรณีศึกษา ใช้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการเรียนการสอน ฉะนั้นข้อมูลชุดนี้จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญสามารถต่อยอดเรื่องการอนุรักษ์ได้ และ มีการปรับการใช้งานให้มีความเหมาะสมกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย หรือ คณะวิชาที่เปลี่ยนไป แต่โครงสร้างหลักในแง่ของคุณค่าต้องถูกเก็บไว้” รองศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าว

สำหรับโครงการศึกษารวบรวมฐานข้อมูลอาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มดำเนินการตั้งแต่ มีนาคม 2563 การดำเนินโครงการเริ่มจากการประสานงานกับหน่วยงาน คณะวิชาที่มีอาคารกรณีศึกษา ขอความร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูลอาคาร รวบรวมข้อมูลจากหนังสือ สิ่งพิมพ์และภาพถ่าย หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยขอนแก่น และแบบก่อสร้างอาคาร จากกองอาคารสถานที่ จากนั้นจึงทำการสำรวจ รังวัด เก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรม เขียนแบบและจัดทำแบบทางสถาปัตยกรรมทั้งแบบสองมิติและสามมิติ

คณะทำงานประกอบด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น หัวหน้าโครงการ ผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วยคณาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.นพดล ตั้งสกุล ดร. จันทนีย์ จิรัณธนัฐ รศ.กุลศรี ตั้งสกุล อ.ดร. ฐานันดร์ ศรีธงชัย และ นางสาวโสภิดา พิมพาเพียรรักษาการหัวหน้างานออกแบบและผังแม่บท (สถาปนิก)  กองอาคารและสถานที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการแสดงผลงาน อาคารสมัยใหม่ (Modern Architecture) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ โถงอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2563 -1 ตุลาคม 2563