เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม รองคณบดีฝ่ายบริหาร รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ประธานโครงการยุวชนอาสา มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ได้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการยุวชนอาสา ระยะที่ 1 และรับมอบนโยบายการดำเนินงานภายใต้แผนยุวชนสร้างชาติ ระยะที่ 2 จาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เดินทางลงพื้นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการยุวชนอาสา เฟส 1 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 82 ชุมชน จากความร่วมมือของ 9 มหาวิทยาลัย และนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน
วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ได้คัดเลือกโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการคัดแยกและจัดการขยะในครัวเรือน เทศบาลตำบลนามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์” เป็นโครงการตัวอย่าง จากทั้งหมด 14 โครงการของวิทยาลัย เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีในงานดังกล่าว โดยมี นางสาวสุภาภรณ์ ศรีสงคราม นักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการคลัง เป็นผู้นำเสนอถึงที่มาที่ไป การนำองค์ความรู้ในชั้นเรียนไปบูรณาการในการลงพื้นที่ ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ และการต่อยอดโครงการในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวมี ดร.อจิรภาส์ เพียรขุนทด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา เป็น 1 ใน 3 โปรเจคของโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งประกอบด้วย อาสาประชารัฐ กองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้นและยุวชนอาสา โดยเป้าหมายของโครงการยุวชนอาสา คือการนำนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี 800 – 1,000 คน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาวิเคราะห์ และประมวลผลของปัญหาชุมชนในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย 80 – 100 ตำบล ที่มีปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ เพื่อไปสร้างหรือนำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานภายในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มาบูรณาการในการแก้ปัญหา ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข โดยเลือก จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ
ภาพ/ข่าว จิตรลัดดา แสนตา ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร COLA KKU