“เพื่อให้คณาจารย์ได้รู้ถึงข้อมูลและขั้นตอนการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และครบวงจร”
วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ณ ห้อง M301 ชั้น 3 อาคารเรียนรวมและทักษะพื้นฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดการอบรมหลักสูตร“การขับเคลื่อนและพัฒนาทักษะบุคลากรสายวิชาการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์โดยมี รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ผศ. ดร. จงรักษ์ หงส์งาม ประธานโครงการอบรมหลักสูตร “การขับเคลื่อนและพัฒนาทักษะบุคลากรสายวิชาการเข้าสู่ตำแหน่ง เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งการอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมโดยมีการกล่าวเปิดและบรรยายทั้งระบบออนไลน์และการอบรมภายในห้องประชุมที่มีการจัดพื้นที่และการกำกับดูแลความปลอดภัยในการควบคุมโรคติดต่อตามมาตรฐาน โดยมีผู้เข้าอบรม เป็นอาจารย์ที่ก้าวสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ 49 คนก้าวสู่ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ 165 คน ก้าวสู่ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 152 คน รวม 366 คน
ผศ.ดร.จงรักษ์ หงส์งาม ประธานโครงการฯ กล่าวว่า โครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์ได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ได้ โดยเป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนเส้นทางการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น อย่างถูกต้อง ชัดเจน และครบวงจร รวมทั้งทราบแนวทางการผลิตเอกสารสำหรับประเมินการสอน ตำรา/หนังสือ งานวิจัยและงานวิชาการอื่น ๆ ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์และสอดคล้องกับระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศเกี่ยวกับการเสนอขอกำหนดตำแหน่ง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเขียนเอกสารสำหรับประเมินการสอน การผลิตตำรา/ หนังสือ เพื่อขอตำแหน่งวิชาการ และการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ
รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวเปิดการอบรมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ แก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล การพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง บุคลากรที่มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจดังกล่าวคือ คณาจารย์ผู้ทำหน้าที่สอน และมหาวิทยาลัยตระหนักถึงหน้าที่ ที่จะต้องส่งเสริมศักยภาพและความพร้อม ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการผลิตผลงานทางวิชาการเพื่อนำไปสู่การขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
“การผลิตเอกสารประกอบการสอน และ การผลิตตำราทางวิชาการนั้น ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ดังนั้นการจัดพิมพ์ตำรา และเอกสารทางวิชาการในระดับอุดมศึกษา จึงถือได้ว่าเป็นงานหลักของมหาวิทยาลัยและผู้สอนเพื่อยังประโยชน์ความก้าวหน้าทางวิชาการ และการเรียน การสอน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้อาจารย์และผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา ได้หันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการผลิต และการใช้ตำราทางวิชาการอย่างกว้างขวาง การอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าอบรมรมจะได้เรียนรู้ถึงรูปแบบ แนวทาง รวมถึงวิธีการผลิตเอกสารประกอบการสอนและ การผลิตตำรา เพื่อเป็นแนวทางในการขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นต่อไป ” รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ กล่าว
สำหรับการอบรมจัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 9 โดยมีการอบรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งนอกจากการเปิดการอบรมในวันดังกล่าวแล้ว ยังเปิดคลินิกการให้คำปรึกษาโดยผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2563 โดยหลักสูตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 การให้ข้อมูล ประกาศต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบันในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการพัฒนาผลงานวิชาการ โดยแบ่งกลุ่ม เป็น 3 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ 1) กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2) กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 3) กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยผ่านระบบออนไลน์ (ทั้ง VDO และการ Live)
ส่วนที่ 2 การให้คำปรึกษา ซึ่งมีการอบรมทั้งรูปแบบการแบ่งกลุ่ม เป็น 3 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ 1) กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2) กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 3) กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีทั้งการรวมทุกกลุ่มสาขาวิชาเข้าด้วยกันและแยกกลุ่มตามสาขาแล้วแต่กรณี เพื่อพัฒนาผลงานวิชาการ ประเภทตำรา/หนังสือ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากการอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการพัฒนาผลงานวิชาการ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องส่งผลงานวิชาการให้วิทยากรประจำกลุ่มสาขาวิชาพิจารณา เพื่อให้ข้อเสนอแนะ ปรับปรุงผลงานทางวิชาการ
ส่วนที่ 3 การให้คำปรึกษารายบุคคล มีจุดประสงค์ให้ผู้ที่มีผลงานการเขียนเอกสารสำหรับประเมินการสอน/ตำรา/หนังสือพร้อมจะยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ นำเสนอและวิพากษ์ผลงานร่วมกันกับวิทยากรประจำกลุ่มเพื่อปรับปรุงผลงานก่อนยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
สำหรับในวันเปิดโครงการได้มีการบรรยาย อนาคตเส้นทางสู่ตำแหน่งทางวิทยากรโดย ศ.ดร. สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มข. เส้นทางสู่ตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากมหาวิทยาลัยขอนแก่นสายวิชาการ วิทยากรโดย ศ.ดร.อารันต์ พัฒโนทัย หลักเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ วิทยากรโดย นายสถิตย์ แก้วบุดตา ผู้อำนวยการกองทรัพยากรบุคคล และ นายชัชวาล หนองนา หัวหน้างานกลยุทธ์ทรัพยากรบุคคล เทคนิคการเขียนหนังสือ/ตำรา วิทยากรโดย ศ.นพ. สมบูรณ์ เทียนทอง แนวทางการจัดทำ E-book เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ วิทยากรโดย นางสาวกมลพร อรรคฮาต ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มข. เทคนิคการผลิตผลงานหนังสือตำราด้วยกราฟิกอย่างง่าย วิทยากรโดย นางสาวสิริพร ทิวะสิงห์ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว / อุดมชัย สุพรรณวงศ์