มข.เปิดตัวงานวิจัยนวัตกรรม: อาหารเสริมสัตว์เคี้ยวเอื้องจากพืชทางการแพทย์ สู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ตามแนวทาง BCG สร้างอนาคตยั่งยืน

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์  เปิดตัวงานวิจัยนวัตกรรม: อาหารเสริมสัตว์เคี้ยวเอื้องจากพืชทางการแพทย์ สู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ตามแนวทาง BCG” สร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และการผลิตอาหารเสริมที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ

 

จากความท้าทายสู่งานวิจัยสูตรอาหารเสริมสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง

ในอดีตที่ผ่านมา การนำสารสกัดจากพืชสมุนไพรมาใช้ในอาหารเสริมสัตว์ยังคงเป็นเรื่องใหม่ และต้องการการยอมรับจากเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยต้องมีการวิจัยและทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัย ตามข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ พบว่าการนำส่วนประกอบของกัญชา กัญชง และกระท่อมมาใช้เป็นอาหารเสริมสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพืชกัญชง ที่มีโปรตีนสูงและสารอาหารกลุ่มให้พลังงาน กรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 รวมถึงกรดอะมิโน 17 ชนิด ที่เด่นชัดคือ Glutamic acid, Leucine, Lysine และ Methionine

ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ความท้าทายนี้ทำให้ ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ และทีมวิจัยจากภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มทำการวิจัยสูตรอาหารเสริมสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งถือเป็นการวิจัยที่ยังมีนักวิจัยน้อยมากในแถบเอเชีย โดยมุ่งเน้นให้สัตว์ได้รับอาหาร ที่มีคุณภาพสูง ช่วยลดต้นทุนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ และช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์ และเพิ่มผลกำไร พร้อมทั้งช่วยลดการผลิตแก๊สมีเทนที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วย

การวิจัยฯ ช่วยคงคุณภาพของอาหารเสริมและยับยั้งจุลินทรีย์ที่ผลิตแก๊สมีเทน

ศ.ดร.เมธา อธิบายว่า สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ และแกะ มีความสามารถพิเศษในการย่อยอาหารผ่านกระเพาะที่แบ่งเป็น 4 ส่วน โดยเฉพาะกระเพาะหมักที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลากหลายชนิด แต่แก๊สมีเทนเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จึงได้มีการวิจัยสูตรอาหารเสริมสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยนำสารสกัดจากกัญชา กัญชง และกระท่อม มาใช้ โดยใช้วิธีการสกัดสารในรูปแบบของผงและนำไปผ่านกระบวนการเอ็นแคปซูเลชัน (Encapsulation) ด้วยไคโตซาน (Chitosan) จากเปลือกกุ้ง ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพ ช่วยคงคุณภาพของอาหารเสริมและยับยั้งจุลินทรีย์ที่ผลิตแก๊สมีเทน

การใช้งานโดยชอบธรรม, https://th.wikipedia.org/w/index.php?curid=476839
การใช้งานโดยชอบธรรม, https://th.wikipedia.org/w/index.php?curid=476839

ส่วนกระบวนการแปรรูปหรือไมโครเอ็นแคปซูเลชัน (Microencapsulation) นั้น เราใช้การผสมสารสกัด กับสารละลายไคโตซาน แล้วนำเข้าเครื่องพ่นฝอยความร้อน (Spray-drying) ผลลัพธ์ที่ได้คือผงขนาดเล็ก ที่ยังคงคุณสมบัติของสารอาหาร โดยใช้สารสกัดกัญชา สารสกัดกัญชง และสารสกัดกระท่อมที่ผลิตได้ ผสมลงในอาหารข้นในอัตราส่วน 0.5 กรัม /กิโลกรัม (เป็นปริมาณที่จะไม่ส่งผลเสียต่อผลผลิต และความปลอดภัยต่อสัตว์เลี้ยง)

 

การวิจัยสูตรอาหารเสริม ช่วยลดการปล่อยแก๊สมีเทนจากสัตว์เคี้ยวเอื้องถึง 70% ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

สรุปได้ว่า สูตรในการให้อาหารเสริมคำนวนจาก วัวนม 1 ตัว ให้นม ประมาณ 15 ลิตร/ตัว/วัน เกษตรกรจะให้อาหารข้น 7-10 ก.ก./ตัว/วัน และใช้สารสกัดกัญชา กัญชง และกระท่อม ประมาณ 3-5 กรัม โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกร มีค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารเสริม ประมาณ 5-10 บาท/ตัว/วัน ซึ่งการใช้สารสกัดกัญชา กัญชง และกระท่อม ในอาหารเสริมช่วยให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น ผลิตเนื้อและนมได้มากขึ้น และช่วยลดการปล่อยแก๊สมีเทนจากสัตว์เคี้ยวเอื้องถึง 70% ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

หลังจากการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรและได้รับอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ตามคำขอ 2403001724 สูตรอาหารเสริมสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีผสมระหว่างสารสกัดกัญชา สารสกัดกัญชง และสารสกัด กระท่อมที่ห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นกระบวนการทดลองแบบห้องทดลองหรือจำลองสภาพเหมือนจริง (In vitro) และกำลังขอทุนสำหรับการทดลองในสัตว์จริง (In vivo) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ ในปี 2568 – 2569

แม้งานวิจัยนี้จะมีความก้าวหน้า นักวิจัยที่เกี่ยวข้องการวิจัยในด้านนี้น้อยมาก

การวิจัยนี้สอดคล้องกับแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพร และการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวิจัยนี้จึงเป็นการผสมผสานแนวทาง BCG เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และการผลิตอาหารเสริมที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ

แม้งานวิจัยนี้จะมีความก้าวหน้า แต่ยังมีนักวิจัยที่เกี่ยวข้องการวิจัยในด้านนี้น้อยมาก ทำให้การพัฒนาและการนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ยังเป็นเรื่องที่ต้องการการสนับสนุนและการร่วมมือจากหลายฝ่าย อันจะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ลิงก์ผลงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์
1. https://doi.org/10.3390/antiox11112103 (การสกัดและการเตรียมผงห่อหุ้ม)  by Srisan Phupaboon, Maharach Matra, Ronnachai Prommachart, Ronnachai Prommachart,
Pajaree Totakul, Chanadol Supapong and Metha Wanapat
2. https://doi.org/10.5713%2Fab.23.0200 (สารสกัดห่อหุ้มกระท่อมในการศึกษา in vitro)  Maharach Matra, Srisan Phupaboon1, Pajaree Totakul, Ronnachai Prommachart, Assar Ali Shah, Ali Mujtaba Shah, Metha Wanapat

ในส่วนของการศึกษา in vitro ในสารสกัดห่อหุ้มในกัญชงและกัญชา ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจแก้ไข

ข่าวบทความ : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : ทีมวิจัยจากภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / การใช้งานโดยชอบธรรม, https://th.wikipedia.org/w/index.php?curid=476839 / https://pxhere.com/th/photo/670919

KKU Unveils Groundbreaking Research: Medicinal Plant-Based Supplements for Ruminants to Revolutionize the Livestock Industry with BCG Approach

https://www.kku.ac.th/18668

Scroll to Top