มข. ร่วมมือสมาคมส่งเสริมผ้าไทย ผลักดันผ้าไหมมัดหมี่สู่ซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัด

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น จัดพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน” โดยมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางยุพรัตน์ ดวงดีทวีทรัพย์ นายกสมาคมส่งเสริมผ้าไทย พัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ประชาชนที่สนใจ ร่วมกิจกรรม กว่า 100 คน ณ ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้บริการแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย สิ่งทอ แฟชั่น ของตกแต่งบ้าน ในจังหวัดขอนแก่น ให้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างผลงานรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบูรณาการความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาว

การจัดโครงการนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์ และร่วมสมัย ซึ่งการที่ชุมชนได้ทำกิจกรรมต่างๆ เรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานวัฒนธรรม สังคม ศาสนา และเศรษฐกิจ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของงานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน  ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ยังสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ภูมิภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติได้

นางศิริพร รักษาวงษ์ อุปนายกสมาคมส่งเสริมผ้าไทย จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ก่อตั้งมา 4 ปีแล้ว  มีเป้าหมายในการต่อยอดผ้าไหมเมืองขอนแก่นไปสู่สากล

“ขอนแก่นเป็นเมืองผ้าไหมมัดหมี่โลก และเรามีกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญลายผ้าดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ขณะเดียวกันก็กำลังมองหาแนวทางพัฒนาลายใหม่ๆ ที่วัยรุ่นสามารถใช้ได้  เพราะพวกเขามีความรู้สึกว่าผ้าไหม มีแต่ปู่ย่าตายายใช้ แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นแนวทางว่าทำอย่างไร ที่วัยรุ่นจะสนใจ  ซึ่งในเรื่องนี้ เราได้รับความอนุเคราะห์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ขับเคลื่อน ออกแบบลายผ้า  เชื่อว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะสามารถทำให้ผ้าไหมมัดหมี่ให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ของจังหวัดขอนแก่น และจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และขยายตลาดผ้าไหมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป”

คุณวรรณรักษ์ ศิริพานิชย์(กลาง) เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า ตนเองชอบใส่ผ้าไทยมากเนื่องจาก มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร 

“ผ้ามัดหมี่ขอนแก่นมีทั้งสีที่เป็นเคมี และ สีจากธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นสีเอิร์ธโทนให้ความรู้สึกสบายตา และ สวยงามคลาสสิค นอกจากนี้เสน่ห์ของผ้าแต่ละผืนจะมีความ “Unique” ใส่สบายเนื่องจากทำจากธรรมชาติ  เราอยากให้ผู้หญิงทุกคนมาลองสวมผ้าไทยดูแล้วจะติดใจ ยิ่งปัจจุบันสามารถออกแบบให้ทันสมัยและดูดีได้ตลอดเวลา”

คุณภาณิน  กิจจรรยา รองประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น  (ซ้ายมือ)เปิดเผยว่า ตนเองซื้อผ้าถุงไป 4-5 ผืนและผ้าพันคอกว่า 10 ผืน เพื่อเป็นของฝากที่ระลึกผู้ใหญ่ที่นับถือ  

“ผ้าไหมเป็นสินค้าที่เมื่อมอบให้แล้วผู้รับเกิดความประทับใจในความงดงาม และ ผ้าแต่ละผืนยังมีเสน่ห์ในตัว มีทั้งลายผีเสื้อ ลายดอกรัก อยากจะเชิญชวนทุกคนมาร่วมใส่ผ้าไทย เพราะมีราคาไม่แพงสามารถจับต้องได้ ใส่สบายไม่ร้อนรีดง่าย สามารถซักเองได้  หากออกแบบเก๋ๆก็สามารถ ใส่ไปทำกิจกรรมต่างๆได้ ส่งเสริมบุคลิกให้เราดูดีและเป็นวัยรุ่นได้ในเวลาเดียวกัน”

 สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าบ้านชัยเจริญ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแวง กลุ่มทอผ้าบ้านบะแหบ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุโข วิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหม มัดหมี่บ้านหัวฝาย กลุ่มทอผ้าไหมบ้านห้วยแก กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยชัน กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองเขื่อนช้าง กลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสำโรง ซึ่งในการจัดกิจกรรมมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานผลิตภัณฑ์  เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ผู้ประกอบการ และ จำหน่ายสิ้นค้าจากกลุ่มสมาชิกซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง  ภาพ : กิตติพงษ์ จำรูญ 

 

Scroll to Top