วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (COLA KKU) จัดการเรียนรู้ตามกระบวนทัศน์ใหม่ ผสานการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ นำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในระหว่างวันที่ 6-11 มีนาคม ที่ผ่านมา คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาหลักสูตรการจัดการการคลัง ชั้นปีที่ 3 ของ COLA KKU ได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 9 แห่งทั่วภาคอีสาน ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย และอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งมอบนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรม เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการนำนวัตกรรมไปใช้ และเพื่อสร้างความตระหนักรู้และสะกิดเตือนผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่
ในกิจกรรมนี้ คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาได้เข้าพบผู้บริหารและบุคลากรของ อบจ. ทั้ง 9 แห่ง เพื่อส่งมอบนวัตกรรม ชี้แจงวิธีการใช้งาน และติดตามการนำนวัตกรรมในระยะแรกไปใช้งานจริง นอกจากนั้น พร้อมทั้งได้พบปะผู้ประกอบการโรงแรมทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จำนวนมากในพื้นที่ 9 จังหวัด เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของค่าธรรมเนียมโรงแรมต่อการพัฒนาท้องถิ่น
กิจกรรมนี้เป็นการบูรณาการระหว่างการวิจัย การจัดการเรียนการสอน และการบริการวิชาการของ COLA KKU ภายใต้แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนทัศน์ใหม่ของ มข. โดยที่คณาจารย์นำแนวคิดและองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต้นแบบ จากนั้นได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของรายวิชาโครงงานและมอบหมายให้นักศึกษาได้นำนวัตกรรมต้นแบบไปพัฒนาต่อสำหรับ อบจ. ปลายทาง โดยมีกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อปรับแต่งเครื่องมือกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริงของ อบจ. ด้วย
นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมที่พัฒนาขึ้นมีทั้งรูปแบบดิจิทัลและรูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสกัดข้อมูล Hotel Information App, ระบบ Line Official สำหรับจัดเก็บค่าธรรมเนียม, คู่มือการจัดการค่าธรรมเนียมโรงแรมสำหรับผู้ประกอบการ, แผ่นพับการชำระค่าธรรมเนียมโรงแรม ฯลฯ
นวัตกรรมที่เผยแพร่ในกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วยข้อมูลขนาดใหญ่และการสะกิดเตือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)