ตัวเต็ง นศ.สถาปัตย์ทุกทีมเหมารางวัลในงานประกวดออกแบบสถาปัตยกรรม “อยู่ ให้ บาย” ในงานสถาปนิกทักษิณ’67

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ได้รับทุกรางวัลในการประกวดออกแบบสถาปัตยกรรม “งานสถาปนิกทักษิณ’67” ในธีม “อยู่ ให้ บาย” ในหัวข้อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนชาวประมงท่าเทียบเรือ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บ้านน้ำราบ จัดโดยกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ และ บริษัท ดอลฟิน ทอยเล็ต พาร์ทิชั่น จำกัด ระหว่างวันที่ 12 – 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งประกาศผลการแข่งขันและรับรางวัลที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง  โดยทีมนักศึกษาได้ทำงานร่วมกับตัวแทนจากสถาบันทั่วประเทศในรอบ 10 ทีมสุดท้ายพัฒนาผลงานและได้รับรางวัลตามลำดับ ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
นายชลสิทธิ์ พุฒิษากุชั้นปีที่ 3
ชื่อผลงาน: ท่าแล่น-น้ำราบ
อาจารย์ที่ปรึกษา
รศ.กุลศรี ตั้งสกุล


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
นายฐปกรณ์ นันทะศิริ และ นายชญานนท์ ชินวงค์  
ชั้นปีที่ 3
ชื่อผลงาน: ท่าเรือเป็นมากกว่าท่าเรือ
อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.กุลศรี ตั้งสกุล

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัล
นายธณธรณ์ นันต์ธนพาณิช และ นางสาวปัญจภรณ์ คงสำโรง
ชั้นปีที่ 3
ชื่อผลงาน: ท่าใหม่-ชีวิตใหม่
อาจารย์ที่ปรึกษา
รศ.กุลศรี ตั้งสกุล

 

รางวัลชมเชยกลุ่มที่ 1   ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
นายพงศกร จันทร์แจ่ม
ชั้นปีที่ 3
ชื่อผลงาน: ชุมชนบ้านน้ำราบ
อาจารย์ที่ปรึกษา
รศ.กุลศรี ตั้งสกุล

 

รางวัลชมเชยกลุ่มที่ 2   ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
นายวริศ ปิยะจิตติ
ชั้นปีที่ 3
ชื่อผลงาน: Grow Tgether
อาจารย์ที่ปรึกษา
รศ.กุลศรี ตั้งสกุล

นายชลสิทธิ์ พุฒิษากุล ตัวแทนผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้ให้สัมภาษณ์ว่า ชื่อผลงาน ท่าแล่น-น้ำราบ มีแนวคิดการออกแบบเกิดมาจากการได้ลงไปเห็นไป รับฟังผู้คนในหมู่บ้าน ได้ทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาและได้รับรู้ความเป็นไปเป็นมา ว่าชาวบ้านน้ำราบ กับเรือถือเป็นของคู่กัน เราจึงอยากนำเสนอวิถีชีวิตของพี่น้องชาวน้ำราบอย่างตรงไปตรงมาในเชิงสัญลักษณ์ จึงหยิบยก เรื่องราวของ เรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือพื้นถิ่น มานำเสนอเป็นรูปแบบอาคาร ท่าเรือ โดยจะออกแบบให้มีความน่าสนใจ เด็ดขาด เป็นทั้งท่าเรือ ศาลาประชาคนและแลนด์มาร์คเล็ก ๆของหมู่บ้านด้วย ตัวผมมีหน้าที่เป็นผู้นำทีม คอยแจกแจงงานและรับหน้าที่ออกแบบอาคารหลัก

บรรยากาศการประกวดในโครงการนี้ มีรูปแบบการแข่งขันที่แปลกใหม่ น่าสนใจ และท้าทายมาก ๆ ครับ มีการแข่งขัน 2 รอบด้วยกัน เริ่มต้นด้วยรอบแรก เป็นรอบคัดเลือก 10 ทีม ทีมละ 2 คน เพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย โดยรอบแรกโจทย์คือ การออกแบบห้องน้ำสำหรับทุกคน (Universal Design) โดยกำหนดพื้นที่เป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ผมได้ทำงานคู่กับ นายฐปกรณ์ นันทะศิริ (หนึ่งในสมาชิกทีม ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในรายการเดียวกัน) เมื่อผ่านเข้ารอบไปได้ ทางทีมงานก็ได้จับ สมาชิกแต่ละ ทีมรวม 20 คน จาก 10 ทีมทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา ประกอบไปด้วย 4 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ม.ราชภัฏสวนสุนันทา  ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง และวิทยาลัยเทคนิคดุสิต ซึ่งแต่ละคนจะถูกจัดให้แยกกับเพื่อนทีมเดียวกันและคละกระจายไปอยู่ทีมใหม่ที่ทีมงานกำหนดขึ้นมา 5 ทีม แบ่งเป็นทีมละ 4 คน เพื่อร่วมเวิร์คช็อปลงพื้นที่ สำรวจสภาพแวดล้อมที่ บ้านน้ำราบ อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นชุมชนพื้นที่ ที่มีวิถีชีวิตอยู่คู่กับการล่องแพ ทะเลน้ำกร่อย ป่าโกงกางเกาะและภูเขา ซึ่งนำไปสู่โจทย์ในรอบสุดท้ายคือการออกแบบท่าเรือ ให้แก่ชุมชน บ้านน้ำราบแห่งนี้ โดยทีมจัดงาน จะประกอบไปด้วยทั้งทีมงานและอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ร่วมกันให้ความรู้และให้คำแนะนำ นศ.แต่ละทีมในการออกแบบด้วย ซึ่งหลังจากกลับมาจากดูงานในพื้นที่แล้ว คณะฝ่ายจัดงานจะเริ่มให้แต่ละทีมแสดงไอเดียการออกแบบ และดำเนินการทำงานร่วมกันกับเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในทีม โดยมีเวลา ราว ๆ 36 ชม. ในการสร้างสรรค์ผลงาน บรรยากาศที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความสนุก ความเครียดในการทำงาน ปัญหาในการออกแบบต่าง ๆ นานา โดยแต่ละช่วงของวัน จะมีพี่เลี้ยง คณาจารย์ และสถาปนิกในพื้นที่เข้ามาให้คำปรึกษา เป็นรอบ ๆ เพื่อแนะนำและช่วยตอบข้อสงสัยของแต่ละทีม และในวันสุดท้าย จะเป็นวันตัดสินว่าทีมไหนจะชนะการประกวด โดยการตัดสินเป็นไปอย่างดุเดือด กฎก็คือ คณะกรรมการตัดสิน จะเป็นอีกทีมที่แยกส่วนกับทีมพี่เลี้ยงที่ใช้เวลาอยุ่ด้วยกันมาตั้งแต่วันแรก ซึ่งการนำเสนอผลงานจะเป็นรูปแบบหารจับสลากลำดับการนำเสนอผลงานกลุ่มของผม ได้ลำดับที่ 4 (รองสุดท้าย) ซึ่งแต่ละทีมจะถูกเรียกเข้าห้องนำเสนอผลงานตามลำดับ โดยผู้ที่นำเสนอผลงานเสร็จแล้วเท่านั้น จึงจะได้นั่งฟังกลุ่มถัดไปนำเสนอต่อ ช่วงเวลาก่อนนำเสนอผลงานผมตื่นเต้นเล็กน้อย เนื่องจากคณะกรรมการถือว่าทุกท่านมีความพิถีพิถันทุกกระเบียด และเป็นสถาปนิกพื้นที่ ๆ มีชื่อเสียง และเมื่อถึงเวลานำเสนอเราก็ทำอย่างเต็มที่ และผลลัพธิ์ก็ออกมาอย่างเกินคาด ผลงานผมและเพื่อน ๆ ในทีมได้ผลตอบรับอย่างน่าพอใจ และคว้ารางวัลชนะเลิศได้ในที่สุด

นายชญานนท์ ชินวงค์   ตัวแทนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อผลงานออกแบบ ท่าเรือเป็นมากกว่าท่าเรือ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า โดยโจทย์เป็นการออกแบบท่าเรือทีมผมเลยมีแนวคิดว่า พื้นที่ท่าเรือก็เปรียบเสมือนกับพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนการที่ออกแบบให้ท่าเรือเป็นเหมือนพื้นที่อำนวยความสะดวกในต่อการดำรงวิธีชีวิต จึงได้ทำการออกแบบท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือที่ส่งเสริมและสร้างกิจกรรมให้ความรู้ในวิถีชีวิตการประมงพื้นบ้านให้แก่นักท่องเที่ยวโดยชาวบ้านในชุมชน เพื่อทำให้เป็นชุมชนที่มีเสน่ห์น่าดึงดูดให้แก่นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและยังเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน ทั้งนี้พื้นที่ภายในท่าเรือได้ทำการออกแบบให้ชาวบ้านภายในชุมชนสามารถเข้ามาสอยพื้นที่ทำกิจกรรมภายในชุมชนได้ในช่วงเวลาที่ไม่มีนักท่องเที่ยว โดยผมมีหน้าที่ในการออกแบบและคิด concept เป็นหลัก

นางสาวปัญจภรณ์ คงสำโรง ตัวแทนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในการออกแบบก็มาจากการที่เราเริ่มศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน จากการไปลงพื้นที่จริง ทำให้เราเนี่ยเห็นถึงการใช้ชีวิต และ คิดว่า ชาวประมงต้องคู่กับเรือ จึงนำ “เรือ สะท้อน ชีวิต ” มาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาแบบต่อร่วมด้วยค่ะ และต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาในครั้งนี้ด้วยที่ อาจารย์เดินทางไปพร้อมกับพวกเราและก็คอยแนะนำตลอดค่ะ

ในการจัดประกวดออกแบบในครั้งนี้กําหนดให้ส่งผลงานเป็นทีม ทีมที่ส่งผลงานทุกระดับต้องเข้ารับฟังเรื่องพื้นฐานการออกแบบห้องน้ํา และการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) ทาง Online ตามวัน เวลาที่กําหนด ซึ่งมีสถานศึกษาส่งผลงานเข้าร่วม 17 สถาบัน

รอบคัดเลือก เป็นการรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่องพื้นฐานการออกแบบห้องน้ำและการออกแบบเพื่อคนทุกคน (Universal Design) จากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิจาก บริษัท ดอลฟิน ทอยเล็ต พาร์ทิชั่น จํากัด โดยระบบ Zoom Meeting ในวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 ผลงานที่ต้องการประกอบด้วย แนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม และการวางผัง (ถ้ามี) แนวความคิดอื่นๆ เช่น ด้านการใช้วัสดุ การประหยัดพลังงาน การระบายอากาศ Universal Design แปลนพื้นทุกชั้น  รูปด้านไม่น้อยกว่า 2 รูป  รูปตัดไม่น้อยกว่า 1 รูป  ทัศนียภายภายนอก ไม่น้อยกว่า 2 รูป ทัศนียภาพภายใน ไม่น้อยกว่า 1 รูป ส่งผลงานรอบคัดเลือกภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2566

รอบตัดสิน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจํานวน 10 ทีม เข้าร่วม Workshop และกิจกรรมในงานสถาปนิกทักษิณ’67 ณ จังหวัดตรัง โดยจะประกาศผลพร้อมรับรางวัลรอบตัดสินในช่วงงานสถาปนิกทักษิณ’67 ซึ่งมีทีมเข้ารอบจากผลงานประกวดแบบ 142 จากทีม 17 สถาบันฯ ได้ผ่านกันคัดเลือกผลงานมา 10 ทีม จาก 4 สถาบันฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอ.วข.ตรัง ม.ราชภัฏสวนสุนันทา และ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต

ซึ่งทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขอขอบคุณ รศ.กุลศรี ตั้งสกุล และ อาจารย์ ดร.นิชากร เฮงรัศมี ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการประกวดแข่งขันครั้งนี้

ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ภาพ : Dolphin Toilet Partition

Scroll to Top