เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ฝ่ายวิจัย และ บริการวิ
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิสัยทัศน์ การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนําระดับโลก ซึ่งพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ Spiritual การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทํางานวิจัยเป็นทีมสามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบสูงได้ ฉะนั้นการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับภาคเอกชน และ หน่วยงานภายนอก เกี่ยวกับการวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และ ผลิตภัณฑ์กัญชาสารสกัด จึงเป็นการดำเนินตามนโยบายดังกล่าว และยังได้สร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงสร้างสรรค์
“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับอนุญาตเกี่ยวกับกัญชาจากองค์การอาหารและยา ใน 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ครอบครอง เช่น ของกลางจาก ปปส. ส่วนที่ 2 เป็นใบอนุญาตในการสกัด มีห้องแลปอยู่ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ มีการต่ออายุปีต่อปีมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ 3 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ อยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งเมื่อระบบทั้ง 3 ส่วนพร้อม จะเข้าสู่ส่วนสุดท้าย คือ การปลูก คาดว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้า โดยทางมหาวิทยาลัยจะขอใบอนุญาตครบทุกส่วนไม่ว่าจะเป็น การปลูกระบบปิดในคอนเทนเนอร์ การปลูกในระบบกรีนเฮ้าส์ การปลูกในระบบ เปิดที่มีรั้วรอบขอบชิด มีความปลอดภัย คาดว่าจะเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ดีให้กับนักวิชาการและเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป”ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว
ผศ.ดร. ปรเมศ บรรเทิง รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและการต่างประเทศ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว ว่า โรงเรือนกรีนเฮ้าส์หลังนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือ 3 ฝ่ายได้แก่ บริษัท อะลาดินคอร์ปอเรชั่น จำกัด สนับสนุนด้านการจัดทำรั้ว และ ระบบรักษาความปลอดภัย มูลค่า 5,136,000 บาท บริษัทมาลีสามพราน สนับสนุนตัวเรือนที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 2 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการวิจัย การเรียนการสอนเพื่อผลิตพืชระดับอุตสาหกรรม และ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุน ระบบการควบคุม การจัดการให้น้ำ ปุ๋ยแบบไฮโดรโปนิกส์
“คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบคุณความร่วมมือ สนับสนุน จากทุกฝ่าย โรงเรือนต้นแบบเพาะปลูกกัญชาแห่งนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือทางวิชาการ ต้นแบบการเพาะปลูกกัญชาในโรงเรือนพลาสติกกรีนเฮ้าส์ขนาดใหญ่ การผลิตพืชกัญชามูลค่าสูงภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากบริษัท อะลาดิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมไปถึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เป็นการส่งเสริม ให้สามารถดำเนินการเพาะปลูกกัญชาเพื่อการวิจัย ทำได้โดยสมบูรณ์และเหมาะสม เชื่อว่าโรงเรือนต้นแบบเพาะปลูกกัญชาแห่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการใช้ประโยชน์กัญชาในด้านการแพทย์ อันจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไปในอนาคต”ผศ.ดร. ปรเมศ กล่าว
ทั้งนี้ โรงเรือนต้นแบบเพาะปลูกกัญชา แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ประกอบด้วย ห้องดำเนินงาน ห้องสกัดสาร ห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และดอกที่เก็บเกี่ยว ห้องทำลาย และ ห้องดูแลระบบรักษาความปลอดภัย โดย ระบบรักษาความปลอดภัย ที่มีอยู่รอบอาคาร มี 2 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นรั้วที่มีความสูงประมาณ 3 เมตร ป้องกันความปลอดภัยโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้ากระแสต่ำไม่เกิน 220 โวลท์ ซึ่งจะทำให้ผู้บุกรุกหมดแรงไม่สามารถปีนเข้าไปได้ ส่วนชั้นถัดไปเป็นรั้ว มีความสูงประมาณ 2 เมตร หลังจากนั้นจะเป็นระบบชลประทาน มีอยู่ 2 ส่วน คือ ระบบน้ำบาดาล และ ระบบน้ำประปา
ขอบคุณภาพ : กรรณิการ์ รัตนประเสริฐศรี