อาจารย์-นักศึกษาสถาปัตย์ ลงพื้นที่ดูงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นย่านเขตอีสาน

การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต  เป็นการลงสำรวจภาคสนามในพื้นที่ย่านเมืองเก่า สิงห์ท่า จังหวัดยโสธร  เพื่อเรียนรู้ความเป็นท้องถิ่นและทำความเข้าใจ บริบททางกายภาพที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งฝึกประสบการณ์จากพื้นที่ศึกษา โดยจะทำการศึกษาประเด็นต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้จากการบรรยายในชั้นเรียน เช่น คุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในบริบทร่วมสมัย  ภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชน พัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสิงห์ท่า  แนวคิดการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์อาคารเก่าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เป็นต้น  นักศึกษาจะได้นำข้อมูลสภาพสังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ทั้งจากการสังเกตการณ์ การพูดคุยกับผู้คน วิเคราะห์ร่วมกับการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ  เพื่อหาแนวทางในการถ่ายทอดผ่านสื่อลักษณะต่างๆผ่านผลงานที่จะจัดทำขึ้นในรายวิชา สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น 2 ในภาคการศึกษานี้

การเดินทางครั้งนี้ยังมีการศึกษาพื้นที่ย่านเมืองเก่าโคราชเพื่อเป็นกรณีศึกษา  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. การุณย์ ศุภมิตรโยธิน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎ นครราชสีมา เป็นผู้นำชมและบรรยาย  และคณะนักศึกษาได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการโลกของช้าง ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและจังหวัดสุรินทร์ ที่ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ โดยมี คุณ สดุดี ธนาสูรย์ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์  มาบรรยายและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการอีกด้วย  การศึกษาทั้งสองพื้นที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมกับบริบทท้องถิ่นจากพื้นที่จริงได้เป็นอย่างดี

การเดินทางในครั้งนี้ เริ่มวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เสร็จสิ้นวันที่ 25 สิงหาคม 2566 รวมสามวัน มีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน 51 คน  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทนีย์ จิรัณธนัฐ และรองศาสตราจารย์ ดร.นพดล ตั้งสกุล  เป็นผู้ดูแลและบรรยายตลอดทั้งการเดินทาง

 

ข่าว/ภาพ : รศ.ดร.นพดล ตั้งสกุล

เผยแพร่ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ

Scroll to Top