เมื่อวันที่ 15-22 สิงหาคม 2566 วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน (SIS) และศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ University of York, United Kingdom จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Unveiling Qualitative Research in Temporary Perspectives” เพื่อเพิ่มศักยภาพและความรู้ด้านการผลิตผลงานวิจัยเชิงคุณภาพ และส่งเสริมให้เกิดความสนใจในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในอนาคตให้แก่คณาจารย์และนักวิจัยในสังกัดวิทยาลัยนานาชาติ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัย และการต่างประเทศ กล่าวเปิดการอบรม
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นทั้งในรูปแบบ Online ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting ในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และรูปแบบ On-site ณ ห้อง The Beegins Co-working Space อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2566 โดยได้รับเกียรติจาก Prof. Neil Lunt, Ph.D. จาก School of Business and Society, University of York, UK นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงในด้านการวิจัยเชิงคุณภาพ มาบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัยด้านบริการสุขภาพและสังคม นโยบายสวัสดิการ การย้ายถิ่นฐาน และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย พร้อมทั้งร่วมทำกิจกรรม Workshop กับผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 30 ท่าน
ในการนี้ Prof. Neil Lunt ยังได้มีโอกาสเข้าพบ รศ. ทพญ. ดร.นวรัตน์ วราอัศวปติ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ผศ. ดร. อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ. สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะผู้บริหาร ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการทำความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ สหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ หลังจากจบการอบรมเชิงปฏิบัติการ วิทยาลัยนานาชาติยังได้พา Prof. Neil Lunt เดินทางไปทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนิเวศ ณ สวนเกษตรมีกินฟาร์ม อ. หนองเรือ จ. ขอนแก่น โดยได้ศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ และการให้บริการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมร่วมทำกิจกรรมเพ้นท์ผ้า และทำขนมบัวลอยโฮมเมด โดยใช้สีธรรมชาติจากพืชพรรณในสวนเกษตรอีกด้วย
ทั้งนี้ วิทยาลัยนานาชาติ มีคณาจารย์ที่มีความโดดเด่นด้านการทำวิจัย และมีผลงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ได้ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ โดยการอบรบในครั้งนี้ มุ่งเน้นบทบาทของตัวผู้วิจัยในการลงพื้นที่ด้วยตนเอง ทั้งขั้นตอนการศึกษา เเละการสังเกตุอย่างละเอียดในทุกด้านแบบเจาะลึก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เชิงเหตุเเละผล มีการหยิบยกประเด็นปัญหามาตีแผ่และหาแนวทางการแก้ไขให้กับสังคมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิต วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถผลิตนักวิจัยที่มีความรู้ด้านการทำวิจัยเชิงคุณภาพมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว