นักศึกษา มข. โชว์กึ๋น ผลงานต้นแบบนวัตกรรม พร้อมต่อยอดธุรกิจ มุ่งสู่สตาร์ทอัพ High Potential

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม Startup Thailand League 2023 : Demo Day จัดแสดงผลงานต้นแบบผลิตภัณฑ์กว่า 100 ผลงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ นำนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ทีม ทั้งมีนักศึกษาจาก 48 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ เข้าร่วมจัดแสดงและนำเสนอผลงาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2-3 อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “งาน DEMO Day เป็นอีกหนึ่งเวทีในการสร้างโอกาสให้กับน้องๆ นิสิต-นักศึกษา ได้มีพื้นที่รวมตัวและจัดแสดงผลงานจากการสร้างสรรค์ ผลงานที่เป็นไอเดียใหม่ ผลงานที่ตอบโจทย์สังคม ที่พร้อมพัฒนาสู่ธุรกิจจริงและก้าวไปสู่การเป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติแผนงานทางธุรกิจจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 260 ทีมที่สมัครเข้าประกวดแข่งขัน ได้รับเงินสนับสนุนจาก NIA จำนวนทีมละ 25,000 บาท 100 ผลงานต้นแบบที่นำมาจัดแสดงในวันนี้ คือผลงานที่ผ่านการพัฒนามาจากไอเดียธุรกิจของนักศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการบ่มเพาะ พัฒนาไอเดีย แนวคิด แผนธุรกิจจากโครงการ Startup Thailand League 2023 และผ่านการพิจารณาอนุมัติแผนงานทางธุรกิจจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 260 ทีมที่สมัครเข้าประกวดแข่งขัน ได้รับเงินสนับสนุนจาก NIA จำนวนทีมละ 25,000 บาท เพื่อนำมาผลิตเป็นผลงานต้นแบบ”

ทั้งนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนสนับสนุนและเข้าร่วมจัดแสดงผลงาน ทั้งสิ้น 3 ทีม ดังนี้

1. ทีม 3S  ชื่อผลงาน : อีคอฟฟิล์ม (ฟิล์มถนอมอาหารจากธรรมชาติเพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเก็บอาหารได้ยาวนานขึ้น) (Ecof film)

ฟิล์มถนอมอาหาร Ecof films เพื่อใช้ในการจัดเก็บอาหารสำหรับการจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ต โดยฟิล์มอาหารนี้จะช่วยในการยืดระยะเวลาในการขายอาหาร ช่วยให้รูปลักษณ์ของอาหารดูสดใหม่ และสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้ โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตฟิล์มเป็นพอลิเมอร์จากธรรมชาติเป็นหลัก :ซึ่งช่วยให้ฟิล์มที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และเป็นการนำวัสดุจากธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่า และได้ผลิตภัณฑ์ฟิล์มถนอมอาหารที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ผลงานโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ 1) นางสาวกิตติยา แปลยาว 2) นางสาวรัชนีกร คำแพงตา และ 3) นายวรพล ยั่งยืน

 

2.ทีมคลื่นเหงา สาวปวดหลัง ชื่อผลงาน : ไฮโดรแคร์ แผ่นแปะแผลไฮโดรเจลเชิงนวัตกรรม (Hydrocare) จากงานวิจัย Materials for medical applications : Hydrogels 1 กล่อง บรรจุ 2 แผ่น ราคา 129 บาท มาพร้อมคุณสมบัติที่หลากหลาย แผลหายเร็ว และเพิ่มสรรพคุณจากสมุนไพรไทย 3 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ช่วยสมานแผล กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนเร่ง กระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ดีปลี ช่วยระบายน้ำเหลือง และน้ำหนองจากแผล ขมิ้น ดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์จากแผล ลดการอักเสบ ระบบไหลเวียนเลือด ผลงานโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ 1) นายวิศรุต ฮางลี 2) นายสหรัถ วรรณะ 3) นางสาวนิธิดา เขพันดุง 4) นางสาวอริสา พิสิฐพรปิติกุล และ 5) นางสาวณิชาภา สิงห์ศรี

 

3. ทีม Cyclones ชื่อผลงาน : ควิคไฮเออร์ (Quickhire) เป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการหางานพาร์ทไทม์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อความต้องการของผู้จ้างงานและผู้หางาน โดยเว็บของเราจะมีการเก็บข้อมูลไว้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการจ้างงาน ความสามารถต่างๆ โดยผู้ประกอบการสามารถรู้ได้ว่าคนที่สมัครเข้ามามีคุณสมบัติตรงกับที่เปิดรับหรือไม่ ไม่ต้องไปเสียเวลาไปกรองข้อมูลเอง ผลงานโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ 1) นายอภิสิทธิ์ กันพนม 2) นางสาวณัฐณิชา ปรีชาอนันตกุล 3) นางสาวธิดาลักษณ์ เมืองแพน และ 4) นายโยธิน นันต๊ะเสน

โดยนักศึกษาทั้ง 3 ทีมนี้ ได้จัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกของแผนกพัฒนาธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพ ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตและประสบความสำเร็จในธุรกิจ ต่อไป

 

ข่าว : ณัฐกานต์

ภาพ : นภดล

Smart KKU students showcase their prototype innovations, ready to be high-potential startup businesses

https://www.kku.ac.th/16725

Scroll to Top