เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาด และการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่ของ กฟผ. เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผยว่า ไทยเป็น 1 ใน 6ประเทศของเอเชียที่มีขีดความสามารถสูงด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ โดย Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มเศรษฐกิจเวลเนสจนถึงปี 2568 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกฎบัตรไทยกับ กฟผ. ในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับเขื่อนของ กฟผ. และพื้นที่ชุมชนโดยรอบที่มีศักยภาพสู่ธุรกิจเวลเนส ยกระดับเป็นเขตนวัตกรรมการแพทย์และ การส่งเสริมสุขภาพ เขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ผ่านการพัฒนารูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาเครือข่ายการตลาด ส่งเสริมการจ้างงานและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงประสาน เครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเปลี่ยนไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงในปี 2580
ด้าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเสริมว่า กฟผ. ได้พัฒนาสินทรัพย์ บริการ และแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม หรือ Soft Power ที่สามารถต่อยอด สร้างผลกระทบเชิงบวกทางด้านเศรษฐกิจ มูลค่าสูงต่อชุมชนโดยรอบ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกฎบัตรไทยในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขื่อนและชุมชนโดยรอบของ กฟผ. สู่ธุรกิจด้านสุขภาพแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนาพลังงานสะอาด สนับสนุนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดย กฟผ. จะจัดทำแผนแม่บทบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแต่ละภาคของประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ประจำภาค สำหรับพัฒนาชุมชนในแต่ละจังหวัด โดยมีเขื่อนของ กฟผ. เป็นศูนย์กลางดำเนินงานและเชื่อมโยงสู่ชุมชนซึ่งจะนำร่อง ในพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศ ดังนี้
– ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
– ภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อน จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ
– ภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี
“กฟผ. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือเพื่อยกระดับธุรกิจภายในพื้นที่ของ กฟผ. และชุมชนโดยรอบสู่ธุรกิจเวลเนส ในครั้งนี้ เป็นกลไกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ช่วยสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่สำคัญคือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวย้ำ
แหล่งที่มา
https://shorturl.asia/b0ThD
https://www.dailynews.co.th/news/2396369/
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230602233519713
https://www.fm91bkk.com/newsarticle/9652