ในวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการจัดการธุรกิจ (English for Business Management: EBM) สาขาศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย อ.อรภิยา มณีกานนท์ ประธานหลักสูตรฯ พร้อมด้วย อ.ภควดี ไชยศิริ และอ.วริศรา บทมาตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรฯ ได้จัดโครงการเตรียมความพร้อมสู่อาชีพในศตวรรษที่ 21 ประจำปี 2565 ให้แก่นักศึกษา EBM ชั้นปีที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับการเรียนรู้ด้วยตนเองและได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้น พร้อมทั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาและเพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาต่อวิชาชีพในอนาคต โดยการจัดโครงการครั้งนี้ คณะนักศึกษาได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นชุมชนเข้มแข็งที่พัฒนาจากหมู่บ้านเกษตรกรสู่ชุมชนท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีอันดีงาม และทรัพยากรชุมชน ก่อเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ อาทิเช่น กลุ่มเลี้ยงปลานิลกระชัง กลุ่มทอผ้า กลุ่มล่องเรือ และกลุ่มโฮมสเตย์ โดยได้รวมตัวกันเพื่อทำท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเดื่อ จากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ในช่วงเช้า ได้รับเกียรติจากคุณอุดม ถิ่นมะนาว ประธานท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ กล่าวต้อนรับและได้รับฟังบรรยายประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเกษตรกรริมโขงสู่ชุมชนท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง จากคุณบุษบา วงค์ใหญ่ รองประธานฯ และคุณยอดเพชร ธรรมฤทธิ์ ที่ปรึกษาฯ หลังจากนั้น คุณขนิษฐา จันทำมา ประชาสัมพันธ์ชุมชนฯ ได้บรรยายโครงสร้างการจัดการท่องเที่ยวชุมชนฯ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ 3 ด้านของทั้ง 3 กลุ่มสาขาวิชาโทของหลักสูตรฯ ได้แก่ การจัดการธุรกิจ, การโรงแรมและการท่องเที่ยว, และนวัตกรรมการสื่อสารและสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของภาษาต่างประเทศกับการท่องเที่ยวชุมชนฯ หลังการบรรยาย คณะนักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือทำ “สบู่มะเดื่อ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของชุมชน และเดินเยี่ยมชมจุดต่าง ๆ ได้แก่ ร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้านอาหาร และร้านกาแฟ
ในช่วงพักกลางวัน คณาจารย์และคณะนักศึกษารับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านเชฟชุมชน โดยท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ ซึ่งจัดเป็นขันโตก โดยมี “เมี่ยงมะเดื่อปลานิลทอด” อาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบประจำถิ่น (ปลานิลและแจ่วมะเดื่อ) นำมาประยุกต์จัดทำเป็นอาหารขึ้นชื่อประจำชุมชนฯ นอกจากนี้ ทางร้านยังได้จัดซุ้มส้มตำให้นักศึกษาได้ลงมือตำด้วยตนเองอีกด้วย หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ คณะนักศึกษาได้กลับไปทำสบู่อีกครั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนการบรรจุผลิตภัณฑ์หลังจากรอให้ก้อนสบู่แข็งตัว
ต่อมาในช่วงบ่าย คณะนักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือทำข้าวโหล่งซึ่งเป็นขนมหวานโบราณชนิดหนึ่งของภาคอิสาน โดยทางชุมชนได้เพิ่มลูกมะเดื่อ สร้างจุดเด่นจนกลายเป็นขนมประจำชุมชน หลังจากนั้น เป็นกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่มตามสาขาวิชาโท เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกของชุมชนฯ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาโทของตน และระดมความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 3 ด้าน ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างการจัดโครงการนี้กับรายวิชาประจำกลุ่มวิชาโท ได้แก่ English for Marketing (ภาษาอังกฤษเพื่อการตลาด), English for Tourism (ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว) และ English for Public Relations (ภาษาอังกฤษเพื่อการประชาสัมพันธ์) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษานำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ มาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอผลงานออกมาในรูปแบบของโปรเจคของแต่ละรายวิชา ประจำภาคการศึกษานี้
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด ตัวแทนนักศึกษาได้นำเสนอความรู้ที่ได้รับในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันของนักศึกษา และยังได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโปรเจคของกลุ่มสาขาวิชาโทของตนแก่ชุมชน พร้อมข้อเสนอแนะและคำแนะนำในการร่วมพัฒนาชุมชน โครงการนี้ถือว่าเป็นการบูรณาการโครงการร่วมกับทั้งรายวิชาและการบริการชุมชน โดยสามารถติดตามผลงาน Vlog โครงการนี้และโปรเจคของนักศึกษาได้ที่ เพจเฟสบุคหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการจัดการธุรกิจ https://www.facebook.com/ebmkku
ข่าว: นางสาวธัณญภัสร์ นิลสุ (นักศึกษา EBM ชั้นปีที่ 4)
ภาพ: นายกนกพล มีทวี, นายนาวิน โต๊ะชาลี, นางสาวกรดา วรพิมพ์ยุทธการ (นักศึกษา EBM ชั้นปีที่ 4)