คณะนิติฯ มข. ต้นแบบการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาจากองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ

ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาและสร้างคนรุ่นใหม่แห่งสังคมเคารพสิทธิมนุษยชน พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

วันที่ 13 มกราคม 2563 อาจารย์ดารณี ราชภูเขียว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการบริหารเครือข่ายทางวิชาการ ในฐานะคณะกรรมการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับมอบ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” และ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” และเข้าร่วมการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) ในสังคมไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในสังคมไทย” ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ทุกคนมีมาแต่เกิด โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ เป็นสิทธิที่มีคู่กับความเป็นมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ และความแตกต่างใด ๆ ในทางกายภาพหรือสถานะทางสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองบุคคลให้เกิดความเป็นธรรม หากทำให้ทุกคนได้รับทราบและเข้าใจความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ทุกคนก็จะเกิดความหวงแหน ไม่ยอมให้ผู้ใดมาพรากเอาไปได้ ในการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการวางรากฐานสำคัญให้เด็กรู้จักสิทธิ เข้าใจสิทธิ และไม่ละเมิดสิทธิ สำหรับ “หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย” ทั้งหลักสูตรสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม หลักสูตรสำหรับภาคธุรกิจ และหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงนั้น ล้วนมีความสำคัญ เพราะสิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (a lifelong process) ของคนทุกคน ที่จำเป็นต้องมีทั้งองค์ความรู้ การนำไปปฏิบัติจริง แล้วจึงจะเกิดปัญญา

และกล่าวในตอนท้ายว่า หากพิจารณาเป้าหมาย 17 ข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้ให้คำมั่นร่วมกันว่าจะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ล้วนมีฐานของสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องอยู่ในทุกเป้าหมายทั้งสิ้น และประเทศไทยยังมีเวลาอีก 10 ปีที่จะมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาจะช่วยให้ประเทศได้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ หลังจากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีส่งมอบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กรภาคประชาชน รวมถึงสถาบันพระปกเกล้า

โดยอาจารย์ดารณี ราชภูเขียว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการบริหารเครือข่ายทางวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้แทนในการรับมอบในครั้งนี้ได้เผยว่า ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนโครงการงานด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ได้มีการผลักดันให้สิทธิมนุษยชนศึกษาได้รับการพัฒนาเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไปสำหรับนักศึกษาทุกคณะในมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงเป็นรายวิชาเฉพาะสำหรับนักศึกษาสาชาวิชานิติศาสตร์และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ได้แก่ วิชาสิทธิขั้นพื้นฐานและประชาสังคม วิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน วิชาสิทธิและหน้าที่พลเมือง เป็นต้น โดยได้นำ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาทดลองใช้ในการจัดการเรียนรู้ทั้งในรายวิชาและในกิจกรรมกระบวนการของกลุ่มนักศึกษาอาสาสิทธิฯ ซึ่งได้นำกิจกรรมตามคู่มือฯ ดังกล่าวมาออกแบบและประยุกต์ใช้กับการรณรงค์สิทธิมนุษยชนใน โครงการห้องเรียนสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ซึ่งมีโรงเรียนเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น 15 โรงเรียน โดยจัดการเผยแพร่และสร้างความตระหนักถึงในประเด็น “การหยุดการกลั่นแกล้ง” (stop bullying)​ เป็นการพัฒนานักศึกษาในทักษะด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในและนอกสถานที่ให้แก่นักศึกษา รวมถึงเป็นการบริการวิชาการแก่ชุมชนเครือข่าย สร้างพื้นที่กลางในการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและออกแบบการแก้ไขปัญหาเพื่อหาข้อเสนอแนะ และผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป

 

 

 

 

Scroll to Top