มข. เปิดหอศิลป์โฉมใหม่ แปลกตา ทันสมัย เพิ่มพื้นที่เรียนรู้ของชุมชน

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565   มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดพิธีเปิดหอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน    รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวรายงาน   ทั้งนี้มี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  พร้อมกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมงาน กว่า 100 คน ณ ลานอเนกประสงค์ หอศิลป์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น   กล่าวว่า หอศิลป์มหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นหอศิลป์ยุคแรกแรกในการทำหอศิลป์ในส่วนภูมิภาคนานกว่า 20 ปีที่มีการสร้างขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมกับหอศิลป์มหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่น ๆ เช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยทักษิณ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และมหาวิทยาลัยบูรพา  จนกระทั่งในปี 2565 นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการปรับปรุงหอศิลป์ใหม่จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เป็นโซนที่จะเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับภายนอก  ให้คนอยากเข้ามาเห็นสิ่งที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ ปรับปรุงสิ่งที่เราควรจะทำ นำโดย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ  ผู้นำด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อเห็นหอศิลป์แห่งนี้เปลี่ยนแปลงแล้วแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถึงเวลา reopen หอศิลป์อีกครั้งสำหรับชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชุมชนภายนอก เป็นพื้นที่ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์ดึงดูดความน่าสนใจให้คนเข้ามาศึกษามากขึ้น คาดว่าในไม่ช้าโซนบึงสีฐานทั้งหมด ก็จะมีการปรับปรุงสมบูรณ์แบบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีโซนศิลปวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับภายนอก ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีศิลปงดงามเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า   หอศิลป์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเดิมชื่อหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยกลางในการประสานงานการจัดนิทรรศการการเผยแพร่และจัดแสดงงานด้านศิลปะวัฒนะธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่นและจากต่างประเทศโดยเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2539 สมัยรัฐบาลฯพณฯชวนหลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอีกสองแห่งคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยทักษิณโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดแสดงและเผยแพร่ความรู้ทางศิลปะวัฒนธรรมของภูมิภาคหอศิลปวัฒนธรรมได้รับการออกแบบโดยรองศาสตราจารย์วิโรจน์ศรีสุขโล และ รองศาสตราจารย์ธิติ เฮงรัศมี  โดยให้มีรูปทรงที่แสดงถึงศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นคืออาคารรูปทรงเล้าขาวของอีสาน  อันหมายถึงการเก็บออมอาหารการกินไว้อย่าง อย่างอุดมสมบูรณ์โดยในวันที่ 25 มกราคม 2540 ซึ่งตรงกับวันสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่นฯพณฯนายกฯรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเพื่อวางศิลาฤกษ์อาคารหลังนี้ด้วยการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคมพุทธศักราช 2541 เพื่อเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กันยายนพุทธศักราช 2541 ตลอดระยะเวลากว่า 24 ปีตั้งแต่ก่อตั้งหอศิลปมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาได้รับใช้สังคมหลากหลายมิติในทางศิลปวัฒนธรรมมีผลงานจากต่างประเทศและในประเทศเวียนมาแสดงให้ชาวอีสานได้ชมมากกว่า 300 นิทรรศการ มีผู้คนเข้าใช้บริการ และเข้าเยี่ยมชมกว่า 200,000 คน

“ด้วยระยะเวลาก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีสภาพไม่ตอบสนองต่อการใช้งานในยุคปัจจุบัน  ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องต่อยุคสมัย จึงต้องมีการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ผลงานศิลปะในระดับชาติและนานาชาติ  เพื่อเผยแพร่ผลงานศิลปะสู่สาธารณะชนทั้งยังเป็นการสนองยุทธศาสตร์การเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ด้านศิลปะการสร้างสรรค์และเพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ต่อเยาวชนและชุมชนท้องถิ่นตลอดจนนักเรียนนักศึกษาบุคคลทั่วไปในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นมองเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมจึงต้องมีการจัดการกับพื้นที่รวมไปถึงในส่วนของการจัดการบริหารข้อมูลทั้งหมดให้เกิดความน่าสนใจที่จะดึงดูดความน่าสนใจให้คนเข้ามาศึกษาสนใจโดยเฉพาะในโลกด้วยดิจิทัลจึงได้ออกแบบและปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยให้คนเข้าชมอย่างสบายใจเกิดแรงบันดาลใจในการนำเอาสื่อเทคโนโลยีใหม่ใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการการเรียนรู้เหล่านี้ซึ่งหอศิลป์ใหม่นี้ก็มีผลตอบรับเป็นอย่างดีเมื่อได้เปิดแสดงมาตั้งแต่ 9 มีนาคมถึง 7 เมษายน 2565 เป็นต้นมา มียอดเข้าชมต่อวันเฉลี่ยวันละ 1,000 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 30,000 คน หวังว่าหอศิลป์มหาวิทยาลัยนี้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อคนในภูมิภาค ชาติ และนานาชาติต่อไป”

ท่านสามารถเข้าชมหอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 09-5660-0322

 

Scroll to Top