เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เตรียมดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่รองรับการสร้างผู้เรียนแห่งอนาคต โดยในครั้งนี้ ได้จัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Forum) ภายใต้หัวข้อ “The Future of Thai Citizen 2040” โดยมี รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและขอบคุณ ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเป็นวิทยากรและเปิดการประชุม ณ ห้อง Digital Learning Laboratory ชั้น 4 คณะศึกษาศาสตร์ และแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Meeting ซึ่งการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Forum) ภายใต้หัวข้อ “The Future of Thai Citizen 2040” เป็นการประชุมที่รวมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ประกอบด้วย
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ฉายภาพของยุทธศาสตร์และเป้าหมายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการสร้างกำลังคนขั้นสูงและสร้างความเป็นเลิศเพื่อรองรับอนาคตประเทศไทยในอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยุคใหม่
ศ.เกรียติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คุณจักรี เตจ๊ะวารีผู้จัดการหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์แผนงานคนไทย 4.0 ได้บรรยายในหัวข้อ “ภาพอนาคตประเทศไทย พ.ศ.2585 ฉากทัศน์และข้อเสนอสำคัญจากแผนงานคนไทย 4.0” ที่ได้บรรยายถึงภาวะสังคมประเทศไทยในปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทยยุคใหม่ ร่วมถึงสัญญาณทางสังคมในด้านการศึกษาที่สำคัญต่อประเทศในอนาคตที่มึผลในการขับเคลื่อนในระดับชาติและนานาชาติ
ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมการศึกษาแบบสมาร์ต ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการทำวิจัย “พลเมืองดิจิทัลและข้อค้นพบสำคัญจากการขับเคลื่อนการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนภายใต้โครงการ KKU Smart learning” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ค้นพบวิธีการในการบูรณาการนำเอาเทคโนโลยีมาผนวกกับเนื้อหาและสร้างสื่อเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน รวมถึงพัฒนาครูผู้สอนให้มีความสามารถในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีนั้นๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งจะสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้อย่างสนุกแล้วมีความสุข
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายในเรื่อง “นวัตกรรมอุตสาหกรรมไทยแห่งอนาคต และทักษะสำหรับผู้เรียนไทยในอนาคต” ที่ได้เล่าถึงแนวโน้มในการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในปัจจุบัน เช่น BigData BlockChai หุ่นยนต์และ Ai และการพัฒนาพลเมืองที่มีทักษะในด้านต่างๆ ที่เรียนรู้ให้ทันเทคโนโลยีที่สามารถทำงานแบบูรณาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ
ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง นักวิจัยเกียรติคุณสารสิน ผลงานค้นคว้าวิจัยที่โดดเด่นทางด้าน Bio-Hythane บรรยายในหัวข้อ “อนาคตงานวิจัยและองค์ความรู้ทางด้านพลังงานทดแทน” ได้บรรยายถึงนโยบายยุทธศาสตร์แผนพลังงานของชาติ Energy 4.0 ของประเทศไทย และแผนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ร่วมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานทดแทน
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน บรรยายในหัวข้อ “อนาคตงานวิจัยและองค์ความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี” แนวทางการเรียนรู้ด้านวัสดุศาสตร์รวมถึงการนำเอาศาสตร์ทางด้านนาโนเทคโนโลยีและวัสดุศาสตร์ลงสู่หลักสูตรในการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนไทยแห่งอนาคต
ผศ.ดร.ศุภวรรณ ถาวรชินสมบัติ ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายในหัวข้อ “อนาคตงานวิจัยและองค์ความรู้ทางด้านอาหารแห่งแห่งอนาคต” บรรยายแนวโน้มการปฏิวัติวงการอาหารในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาในการผลิตและแปรรูปอาหาร เช่น 3D Printing หรือ การนำศาสตร์ทางวัสดุศาสตร์มาใช้กับวัสดุที่ใช้เก็บหรือถนอมอาหาร และการแหล่งสารอาหารจากแมลงเป็นต้น
ผศ.ดร.พิพัธน์ เรืองแสง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายดิจิตอล มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายในหัวข้อ “นวัตกรรมและทิศทางของดิจิทัลเทคโนโลยี และควอนตัมคอมพิวเตอร์” ได้แสดงภาพใหญ่ให้ได้ทราบถึงแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยีและไอทีในอนาคต รวมถึงความต้องการบุคลากรที่พร้อมในด้าน Cloud Computing Big Data และ Ai ที่เพิ่มขึ้น และได้บรรยายยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่มีความต้องการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดระยะเวลา
รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ กล่าวว่า “คณะศึกษาศาสตร์จะดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้เรียนแห่งอนาคต โดยการกวาดสัญญาณการคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตทั้งในมิติขององค์ความรู้สำหรับนวัตกรรม และเทคโนโลยีสำหรับโลกอนาคต มิติเศรษฐศาสตร์และสังคม มิติการพัฒนาคนไทย 4.0 ที่มีผลกระทบสำคัญในการขับเคลื่อนสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปสู่อนาคต การจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Forum) ในวันนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และนวัตกรรมการศึกษาที่รองรับการสร้างผู้เรียนไทยแห่งอนาคต ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชียวชาญ และมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดียิ่ง มาร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ให้ข้อเสนอแนะ โดยข้อสรุปดังกล่าวจะนำมาถอดบทเรียนสู่การพัฒนาหลักสูตร เนื้อหาสาระ วิธีการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และเพื่อสร้างเป็นโมเดลต้นแบบและพร้อมขยายผลสู่การนำไปใช้ในระดับประเทศ”