เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธีแสดงความชื่นชมยินดี เนื่องในวาระการได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นของคณะแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีต่อ รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านบุคลากร (Thailand Quality Class Plus: People – TQC Plus: People) และ รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้เข้ารับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โอกาสนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีในความทุ่มเทการทำงานในฐานะผู้นำองค์กร และนำพาบุคลากรในองค์กรทำงานจนประสบความสำเร็จ และ รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ และ รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการดำเนินงานต่อการเข้าสู่ Edpex และ TQC โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารคณะร่วมเป็นเกียรติ ในคราวการประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 5/2565 ณ ห้องประชุมสารสิน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ กล่าวว่า “การเข้าสู่ Edpex และ TQC เชื่อว่าทุกคณะมีระบบอยู่แล้ว เพียงมองว่าเป็นระบบอะไร มีจุดหรือมุมใด เข้ากับเกณฑ์ใด จากนั้นทำภาพให้ชัดขึ้น เรียบเรียงออกมาให้บุคคลภายนอกและคณะกรรมการเห็นว่า สิ่งที่เราทำอยู่เดิมอยู่แล้ว เมื่อได้มีการเรียบเรียงให้ดีแล้ว จะตอบโจทย์ของมาตรฐานไปแล้วส่วนหนึ่ง ที่เหลือเพียงรอให้หมุนวงรอบให้เห็น Outcome ที่ดียิ่งขึ้น ในส่วนของคณะแพทย์ด้วยความที่เป็นคณะด้านสาธารณสุข พอพบสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ Outcome ไม่ค่อยดีนัก หลายข้อเราได้คะแนนน้อยลง เนื่องจากไม่เห็นในเรื่องของความก้าวหน้า หรือ Outcome ที่เติบโตขึ้น ขอให้กำลังใจทุกท่าน และมีความยินดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงเส้นทางที่ผ่านมา ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจและความยินดี ขอบคุณครับ”
รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ กล่าวว่า “คณะทันตแพทย์ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ โดยเราเริ่มต้นด้วยการที่ไม่รู้เลย โชคดีที่มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุน มีโค้ชและทีมงานให้คำแนะนำ ทำให้ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ได้นำเอามาเรียนรู้และปรับใช้ โดยมีจุดประสงค์หลักคือการพัฒนาองค์กร และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานเป็นผล คนเป็นสุข มีการสื่อสารมากขึ้น ได้ทราบการทำงานของคนอื่น ทราบแง่มุมที่แตกต่างกัน จุดที่ได้พัฒนาตนเองมาก คือการหา Core competency ของตัวเองเจอ การทำงานแบบสหสาขาวิชา คือการทำงานร่วมกับคณะแพทย์เป็นส่วนใหญ่ และคณะอื่นๆ ในส่วนของวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะนี่เป็นจุดเด่นที่มหาวิทยาลัยอื่นไม่มี ดังนั้นรางวัลที่ได้มาส่วนหนึ่งต้องขอบคุณคณะแพทย์ที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ให้ความรู้กับเรามาตั้งแต่ต้น และให้ความร่วมมือมาตลอด เป็นรางวัลสำหรับ ชาวทันตแพทยศาสตร์ต่างภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะส่งมอบคุณค่าที่ดีให้กับสังคม”
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ / ถอดเทป : สหัสวรรษ เซียวศิริกุล นักศึกษาฝึกสหกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.