เมื่อวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) ได้เข้าร่วมการแข่งขันนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ โครงการ Thailand New Gen Inventor Award 2021-2022 ใน “วันนักประดิษฐ์” ภายใต้แนวคิด “วิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต สู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ Event Hall 102-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
โดยผลงาน “รถตัดหญ้าและพ่นสารทางชีวภาพ โดยใช้กลไกการบังคับด้วยคลื่นวิทยุสำหรับการแก้ไขปัญหาการปลูกทุเรียนของเกษตรกร” (พัฒนาการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ Autopilot ที่ผนวกกับ GPS Navigation System Control) ช่วยลดระยะเวลาในการกำจัดวัชพืชและฉีดพ่นสารชีวภาพหรือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าแรงงานคน ในการดูแลบำรุงสวนทุเรียน ทำให้คว้า รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ในระดับมัธยมศึกษา กลุ่มการเกษตร ได้รับเหรียญรางวัล Gold เงินรางวัลจำนวน 40,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรประกาศเกียรติคุณ มอบรางวัลโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ ประธานในพิธี และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ได้ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีและให้โอวาทแก่นักเรียนผู้ประดิษฐ์คิดค้นและอาจารย์ที่ปรึกษา ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นี้ เป็นผลงานการวิจัย ออกแบบและพัฒนาลงสู่ชุมชน โดยกลุ่มนักเรียนที่มีความสนใจทางด้าน การออกแบบเทคโนโลยี การเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์และงานช่างอิเล็กทรอนิกส์ ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) ร่วมกับคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำปรึกษา
ผู้ประดิษฐ์คิดค้น ได้แก่
- นางสาวกมลนันท์ วงศ์พรมบุตร
- นายคุณากร ตั้งตระกูล
- นางสาวญาณภา สิงห์คราม
- นายวงศ์รวี ศรีไชยโย
- นายปวริศ กองเงินนอก
อาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่
- อาจารย์ไชยเดช แก้วสง่า
- อาจารย์กุลธิดา ทองนำ
- อาจารย์อรงกรต ปีกลม
- อาจารย์ศิริชัย ตั้งตระกูล
ที่มาและความสำคัญของปัญหาในการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ : ปัจจุบันการปลูกทุเรียนในเขตพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของดินจากเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนในเขตภาคตะวันออก และยังเป็นทุเรียนที่ขึ้นชื่อรู้จักกันในนาม “ทุเรียนภูเขาไฟ” จากความนิยมในการรับประทานทุเรียนภูเขาไฟของประชาชนในประเทศไทย ทำให้เกษตรกรในพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เทือกเขาพนมดงรัก หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านในหมู่บ้านซำตารมย์ ตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ แต่เนื่องจากความนิยมในการปลูกทุเรียนมีขึ้นได้ไม่นาน ทำให้เกษตรกรยังขาดความรู้ในการปลูกทุเรียน อาทิเช่น วัชพืชของต้นทุเรียนที่ส่งผลให้ทุเรียนได้รับแร่ธาตุและสารอาหารไปเลี้ยงลำต้นไม่เพียงพอ มีแมลงศัตรูพืชของต้นทุเรียน คือ เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน ที่ทำลายเฉพาะใบอ่อนทุเรียนที่ยังไม่โตเต็มที่ ทำให้ต้นทุเรียนได้ผลผลิตน้อย นอกจากนี้พื้นที่ในการปลูกทุเรียนจะต้องใช้พื้นที่ในการปลูกที่มีขนาดใหญ่ ทำให้เกษตรกรไม่คำนึงถึงวิธีการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชเท่าที่ควร นอกจากนี้ในปัจจุบันบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มีการพัฒนาคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตเป็นอันมาก ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามาเสริมปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ การใช้เครื่องตัดหญ้าในการกำจัดวัชพืชก็เป็นที่นิยมของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนบ้านซำตารมย์ ซึ่งเครื่องตัดหญ้าที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น คือ เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายที่ใช้แรงงานคน ซึ่งไม่เหมาะสมกับการตัดหญ้าในบริเวณที่มีพื้นที่กว้าง และเครื่องตัดหญ้าแบบรถขับ ซึ่งสามารถใช้ได้กับพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างได้ดี แต่มีข้อจำกัดในเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง และมีการดูแลรักษาของระบบเครื่องยนต์ไฮโดรลิคที่ค่อนข้างซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงรักษาและมีค่าใช้จ่าย
จากเหตุผลข้างต้น คณะผู้ประดิษฐ์คิดค้นจึงได้เกิดแนวคิดที่จะแก้ไขการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชของต้นทุเรียนในพื้นที่ที่มีขนาดกว้าง โดยทำการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าที่พบทั่วไป ให้มีความเหมาะสมกับเกษตรกรทั้งด้านต้นทุนและการบำรุงรักษา สามารถใช้งานได้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ ด้วยการพัฒนาเป็นรถตัดหญ้าที่ควบคุมด้วยรีโมทวิทยุผ่านการส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุ นอกจากนี้ผู้จัดทำโครงงานยังดัดแปลงรถตัดหญ้านี้ให้สามารถฉีดพ่นสารสกัดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งแมลงศัตรูพืชของทุเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรถตัดหญ้า ลดระยะเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชของต้นทุเรียนในเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายทุเรียนเพิ่มขึ้นในช่วงระยะยาวต่อไป