มข. ร่วมผนึกกำลัง ศูนย์อำนวยความสะดวก TALENT MOBILITY (TM CLEARING HOUSE ) จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อม WORKSHOP แนวทางการบริหารโครงการการเคลื่อนย้ายบุคคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (TALENT MOBILITY)

โดยกิจกรรมในช่วงเช้า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นการหารือแนวทางการคัดเลือกโครงการ Talent Mobility ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงปีงบประมาณ 2559-2562 กว่า 284 โครงการ เพื่อหาโครงการที่มีศักยภาพในการผลักดันให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง โดยมี ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานประชุมดังกล่าว พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ นายอภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายวรสันติ์ โสภณ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย Talent Mobility จำนวน 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมจัดทำแนวทางการคัดเลือก

ศ.ศุภชัย รองปลัดกระทรวง กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญของโครงการ Talant Mobility คือทำให้นักวิจัยได้ร่วมพัฒนากับภาคเอกชนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และสิ่งที่ อว. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต คือสามารถทำให้นักวิจัยเข้าไปทำงานกับภาคเอกชนแบบ Full time แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ทำให้ไม่สามารถทำได้ในเวลาที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคตอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในระยะยาวอย่างจริงจัง ช่วยให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจ ว่าสิ่งที่ร่วมกันพัฒนาจะได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์และคุ้มค่ากับงบประมาณและเวลา ส่วนตัวกลางสำคัญที่จะทำความเข้าใจและผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงคือ Clearing House ต้องร่วมมือกันและทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ได้ มันคือการยกระดับ Talent mobility ไปอีกขั้นหนึ่ง ที่สามารถทำให้นักวิจัยไปเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นพนักงานของภาคเอกชนนั้นจริงๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ และทำให้ตัวอาจารย์หรือนักวิจัย สามารถนำผลงานที่ตนเองได้พัฒนานำมาขอตำแหน่งทางวิชาการได้อีกด้วย และท้ายสุดอยากให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิจัยและทำงานจริงร่วมกับภาคเอกชน ส่วนด้านของการเรียนการสอน อยากให้อาจารย์หรือนักวิจัยปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการสอนโดยใช้ประสบการณ์จริงควบคู่กับทฤษฎี

ขณะที่กิจกรรมในช่วงบ่ายและค่ำ เป็นการจัดทำแนวทางการบริหารโครงการ โดยมีศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล กรรมการบริหารโครงการ Talent Mobility เป็นประธานในการจัดทำแนวทางดังกล่าว โดยศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาของโครงการ ได้เรียนรู้หลายอย่างของการบริหารจัดการ โดยเป้าหมายหลักที่มีร่วมกันคือต้องการให้ภาคเอกชนพัฒนาได้เร็วขึ้น ภาคมหาวิทยาลัยเองทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาหรือผู้ประสานงาน รวมถึงภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งด้านความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา และงบประมาณต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือผลลัพธ์ที่ได้ต้องเกิดขึ้นจริง สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไทยมีนักวิจัยที่มีศักยภาพมากมาย ต้องช่วยกันผลักดันให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปช่วยภาคเอกชนและอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น จะเป็นการพัฒนาทั้งตัวนักวิจัยเอง และภาคเอกชนก็ได้ประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งสินค้า อุตสาหกรรม และการบริการต่างๆ ถ้ามีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน ตนอยากฝากให้ภาคมหาวิทยาลัย ช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการทำ R&D ให้แก่ภาคเอกชนด้วย เพราะจะเป็นพืันฐานของการพัฒนาตนเองต่อไปได้ในอนาคต มองปัญหาให้ตรงจุดและแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญคือทุกฝ่ายต้องมีเป้าหมายเดียวกันและมุ่งทำจนสำเร็จ ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้แน่นอน”

 

และปิดท้ายด้วย การบรรยายในหัวข้อ “การขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงาน Talent Mobility” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรพิน พรหมแดน นักวิจัยโครงการ Talent Mobility จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรพิน พรหมแดน นับเป็นนักวิจัยคนแรกที่ใช่ผลงานจากโครงการ Talent Mobility มาใช้สำหรับการขอตำแหน่งทางวิชาการ ประเภท ผลงานวิชาการกลุ่มที่ 2 ผลงานในลักษณะอื่นๆ (ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม)

ภาพ/ข่าว : กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

KKU cooperates with the TALENT MOBILITY (TM CLEARING HOUSE) project from all regions at the workshop on management of industrial research potential

https://www.kku.ac.th/12743

Scroll to Top