เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08:30 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อม คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ในงาน โครงการติดตามความก้าวหน้า “โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ณ ห้อง 4A1-3 Smart Classroom ชั้น 4 อาคารรัตนพิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเจ้าหน้าที่ ๕ณาจารย์ ร่วมงานกว่า 50 คน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัด
รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับคณะติดตามโครงการ ฯ ว่า โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0” ในวันนี้ ซึ่งโครงการต้องการสร้างฐานการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคตโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิตและสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอนสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคนและการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดเป็นนโยบายการผลิตบัณฑิต พ.ศ. 2565 – 2569 และยุทธศาสตร์ด้านการปรับเปลี่ยนการศึกษา (Education transformation)
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่า มีการประมาณการคนทั้งโลกจากนักคิดแนวอนาคตวิทยา (futurist) ว่า ในอนาคตประมาณ 30-40 ปี ประชากรจะเหลือเพียงครึ่งเดียวหากเทียบกับปัจจุบัน โดยสามารถอธิบายโดยใช้การเปรียบเทียบอย่างง่ายคือ การมองจากครอบครัวของตนเอง ในแต่ละยุคสมัย สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาของประเทศในสถาณการณ์ที่ประชากรกำลังลดลงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทำให้การศึกษาต้องมีการปรับปรุงให้มีรูปแบบที่กระชับมากขึ้น หรืออาจจะต้องมีการเพิ่มหลักสูตรแบบ Non-Degree ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทันต่อการใช้งาน และกลุ่มคนที่ยังสามารถทำงานได้แต่มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะนำองค์ความรู้มาพัฒนาประเทศ และโลก
“ ปัจจุบัน การเรียนรู้ อาจจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ คนยุคนี้ มักต้องการทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ ภายใต้องค์ความรู้ที่กระชับ รวดเร็ว เข้าใจง่าย และสามารถใช้ในการทำงานได้ทันที ซึ่งนโยบายของอว. มีความพยายามที่จะปรับปรุง จึงได้ทำระบบการเรียนที่มีความกระชับมากขึ้น ตรงกับความต้องการของผู้เข้าเรียนมากขึ้น ขณะที่ต้องรักษาคุณภาพของนักศึกษาไว้อยู่ ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลุ่มเอกชน ร่วมออกแบบหลักสูตรและทำข้อสัญญาการรับนักศึกษาเข้าทำงานกับเอกชนได้ พร้อมกับวางรากฐานทักษะ ความอดทน ความรับผิดชอบ และการปรับตัว สำหรับนักศึกษาที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยี อว. เป็นองค์กรแนวหน้าที่ต้องพัฒนาตนเองก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาและประชาชน จากมุมมองของกระทรวง ทำให้เราต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้โครงการต่าง ๆ และนโยบายต่าง ๆ ได้มุ่งเน้นให้พัฒนา นักศึกษา องค์กร ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง” ดร.ดนุช กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 8 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรประเภท Degree จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรนวัตกรรม คณะเกษตรศาสตร์ หลักสูตรประเภท Non-degree จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ .หลักสูตรเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืชสมัยใหม่ คณะเกษตรศาสตร์ หลักสูตรเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยี หลักสูตรการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยี หลักสูตรระบบการผลิตแบบอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คณะเทคโนโลยี หลักสูตรโครงการเพิ่มทักษะการคิดชั้นสูงทางคณิตศาสตร์ (Higher-order Thing in Mathematics) สำหรับกลุ่มทางด้านมนุษยศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และ หลักสูตรพลิกโฉมการดูแลสุขภาพด้วยแนวคิดดิจิทัล คณะเทคนิคการแพทย์
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ เผยถึงผลการดำเนินงาน โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณ การเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพ และผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนี้ จำนวนหลักสูตรที่ยื่นข้อเสนอทั้ง Degree และ Non – Degree เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น จำนวนหลักสูตรที่ยื่นข้อเสนอเทียบกับหลักสูตรปริญญาตรี ร้อยละ 18 จำนวนหลักสูตร Non – Degree เทียบกับหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต ของ มข. 57 ต่อ 22 จำนวนหลักสูตรที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.26 ด้าน การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ สร้างความตระหนักให้กับหลักสูตรต่าง ๆ จำนวน 311 หลักสูตรของ มข. ที่จะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร ให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ หรือการพัฒนากำลังคนขั้นสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งยังสร้างความตระหนัก เรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อการผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนให้มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและระหว่างมหาวิทยาลัย จากการได้รับโอกาสเป็นพี่เลี้ยงโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย
ข่าว : จิราพร ประทุมชัย / สหัสวรรษ เซียวศิริกุล
ภาพ : สหัสวรรษ เซียวศิริกุล