________ศูนย์เพศภาวะศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดการประกวดภาพถ่ายสะท้อนความหลากหลายทางเพศ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 29,000 บาท โดยเปิดรับผลงานวันที่ 25 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเปิดรับผลงาน 2 ประเภท คือ ประเภทนักเรียน นักศึกษา และ ประเภทประชาชนทั่วไป
เงื่อนไขการประกวด
- เป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลหรือสมาร์ทโฟน สามารถปรับสีและตกแต่งแก้ไขในด้านเทคนิค เพื่อให้ภาพมีคุณภาพดีขึ้น ไม่ได้ผ่านกระบวนการตัดต่อ
- ภาพที่ส่งต้องมีค่าความละเอียดของภาพที่ 300 DPI ขึ้นไปและไฟล์รูปภาพขนาดความละเอียด 3 ล้านพิกเซลขึ้นไป
- รูปแบบของไฟล์ในแบบมาตรฐาน .JPEG .PNG หรือ .TIFF (ไม่รับภาพที่เป็น RAW FILE หรือไฟล์ที่เป็นสกุลอื่น)
- ภาพที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเข้ากับแนวคิดกับหัวข้อการประกวดที่กำหนด คือ สะท้อนความหลากหลายทางเพศ
- เป็นภาพที่ไม่เคยส่งเข้าประกวดและหรือเคยได้รับรางวัลจากที่อื่นมาก่อน
- เป็นภาพที่ไม่เคยตีพิมพ์ใน นิตยสาร หนังสือ แผ่นภาพ หรือเอกสารใด ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อการจำหน่าย เพื่อโฆษณา ยกเว้นการเผยแพร่บนเว็บไซต์ส่วนตัว
- หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือแอบอ้าง ผู้ส่งภาพเข้าประกวดต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด และจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดทันที
________การส่งภาพเข้าประกวด สามารถอัปโหลดภาพส่งทาง https://forms.gle/UZM7ofMFKQchKRmm7 หลังจากปิดรับผลงาน จะนำภาพประกวดโพสต์บน facebook fanpage : ศูนย์เพศภาวะศึกษา-Center for Gender Studies ซึ่งสามารถ กด LIKE หรือกด Share โพสต์แบบสาธารณะ (Public) โดยติด hashtag ที่กำหนด ได้แก่ #CGSKKU #CGSPhotoContest2022 คณะกรรมการจะตัดสินรางวัลยอดนิยมจากจำนวนการกด LIKE กด Share ของรูปภาพที่ส่งเข้าประกวดจากโพสต์ดังกล่าว
________ศูนย์เพศภาวะศึกษา (Center for Gender Studies) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์วิจัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์สร้างองค์ความรู้ด้านเพศภาวะ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโจทย์การวิจัย สนับสนุนการวิจัย รวมทั้งสร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงานในประเด็นเพศภาวะ สตรีและเด็กของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในอนุภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยทางด้านเพศภาวะศึกษา โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สตรี เด็ก และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และมุ่งเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ภายใต้พันธกิจหลัก ในการสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กตามหลักการของสหสาขาวิชา (Interdisciplinary) เป็นศูนย์กลางและประสานความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับเพศภาวะ สตรีและเด็กในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นศูนย์กลางในการจัดการองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศภาวะ สตรี และเด็ก ด้วยกิจกรรมการประชุมวิชาการ กิจกรรมทางสังคมและบริการวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาด้วยการบูรณาการ การเรียนการสอนกับการวิจัยที่สอดคล้องกับประเด็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็ก
________สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เพศภาวะศึกษา-Center for Gender Studies
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู