เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565 ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หัวข้อ “ส่งเสริมชุนรู้จัก ตระหนักรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี และผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทน รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้กล่าวรายงานาจัดกิจกรรม โดยมีบุคลากรและหน่วยงานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสนองพระราชดำริ เข้าร่วมอบรม จำนวน 200 คน ณ ห้อง Studio ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ชั้น 7 มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Live ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑาพร แสวงแก้ว รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวรายงาน ดังนี้
การประชุมเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น “ส่งเสริมชุมชนรู้จัก ตระหนักรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น” ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานสนองพระราชดำริ แก่สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง ตามแนวทาง อพ.สธ. และผลักดันการดำเนินงานสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่นให้ประสบผลสำเร็จ โดยเป็นการอบรมให้ผู้บริหาร บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น และบุคลากรจากหน่วยงานราชการที่ดำเนินโครงการสนองพระราชดำริฯ ให้เห็นถึงความสำคัญ และสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามแนวทาง อพ.สธ. ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของศูนย์แม่ข่ายประสานงานฯ อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามแผนแม่บท อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การบรรยายความเป็นมา ความสำคัญ และแนวทาง การดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และการเสวนาเสริมสร้างเครือข่ายฐานทรัพยากรท้องถิ่น “ส่งเสริมชุมชนรู้จัก ตระหนักรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น”
การประชุมเสวนาในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ อพ.สธ. มาบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ ความเป็นมา ความสำคัญ และแนวทางการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ได้รับเกียรติจาก นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มาบรรยายในหัวข้อ บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นและการขับเคลื่อนเครือข่ายสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาบรรยายในหัวข้อ บทบาทศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในการประชุมเสวนา ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ น้อยศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นางอังคณา จงภักกลาง หัวหน้าสำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น และนายรชต พรหมศร ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลกุดธาตุ อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น ร่วมการเสวนา ในหัวข้อ “ปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานสนองพระราชดำริขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยมีคุณเบญจมาภรณ์ มามุข หัวหน้างานผลิตสื่อ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าวเปิดงานเสวนา หัวข้อ “ส่งเสริมชุนรู้จัก ตระหนักรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น” ดังนี้
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) รวมระยะเวลากว่า 24 ปี โดยมีนักวิจัย นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะปฏิบัติงาน ดำเนินงานการสำรวจ ศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทรัพยากรกายภาพชีวภาพรวมทั้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในพื้นที่ปกปักทรัพยากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังสนองพระราชดำริในภารกิจที่สำคัญคือ การเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร การประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. ให้มีการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาค
ดิฉันเชื่อมั่นว่า กิจกรรมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนาทุกท่าน จะได้รับองค์ความรู้ และแนวทาง ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รู้จักเครือข่ายสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือช่วยเหลือกันได้ต่อไป ในอนาคต
จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “ปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายการดำเนินงานสนองพระราชดำริขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยมีคุณเบญจมาภรณ์ มามุข หัวหน้างานผลิตสื่อ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่
นายประเสริฐ น้อยศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวถึง การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นแรงจูงใจให้สมัครสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ดังนี้ “ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายก อบต.บัวเงิน เดิมเป็นประธานกรรมการสถานศึกษาในพื้นที่บัวเงิน ได้เห็นท่านปลัดนำโครงการไปเสนอโรงเรียน จึงได้มอบหมายให้มีการดำเนินงานที่โรงเรียน เพราะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยากจะทำให้ดีที่สุด และเกิดประโยชน์กับพื้นที่ โดยมีแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้ได้เป็นโรงเรียนต้นแบบ ขับเคลื่อนในส่วนที่รับผิดชอบกับผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งป้ายพระราชทานเป็นตัวชี้วัดว่าท้องถิ่นควรจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะตำบลมีทรัพยากรที่สมบูรณ์หลากหลาย มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของ อ.น้ำพองมีปราชญ์ชาวบ้าน และมีส่วนราชการ และชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือ”
และในส่วนของการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อประให้ประสผลสำเร็จ ได้กล่าวว่า “ทาง อบต. ได้กำหนดนโยบายงานฐานทรัพยากรท้องอยู่ในกรอบหน้าที่ และในข่ายของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำไประชาชนได้อยู่ดีกินดี ก็จะต่อยอดและขับเคลื่อนหลังจากได้ป้ายแล้ว จุดแข็งของ ต.บัวเงิน คือ ประชาชนมีความรักสามัคคี การขับเคลื่อนจะเป็นไปตามเป้าหมาย”
นางอังคณา จงภักกลาง หัวหน้าสำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น กล่าวถึง การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นแรงจูงใจให้สมัครสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ดังนี้ “ท่านนายก อบต.บ้านกง ได้ไปดูงาน ที่ ต.ห้วยเตย อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ได้เห็นการนำสิ่งดีงามในชุมชนมาใช้ประโยชน์ จึงได้สมัครเข้าร่วมงานฐาน โดยมีเป้าหมายว่า ทำอย่างไรจะทำให้คนทั้งประเทศรู้จัก ต.บ้านกง ซึ่งตอนแรกทุกคนเข้าใจเหมือนกันหมดคิดว่าทำแค่ 9 ใบงาน ตอนแรกไม่รู้สึกว่าเราได้อะไร แต่ต่อมาเกิดการซึมซับและได้ความรู้ จากนโยบายท่านนายก มีอยู่ทางเดียวคือการขอเข้าประเมินรับป้าย ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงเข้ารับการอบรมที่คลองไผ่โดยส่งเจ้าหน้าที่ไป และเริ่มดำเนินงานมาเรื่อยๆ ทั้งส่งเจ้าหน้าที่ และให้ความรู้กับโรงเรียน ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ก็เริ่มถอดใจ เจ้าหน้าที่ส่วนกลางได้บอกมาว่าการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นจะต้องเป็นงานที่ ถูกต้องและถูกตรง และจากการดำเนินงานจะเห็นความสามัคคีในองค์กร ซึ่งเดิมไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน เกิดความร่วมมือร่วมใจกันแม้กระทั่งกับปราชญ์ชาวบ้าน และยังเป็นการทำหน้าที่เสริมของตนตามถนัด”
ในส่วนของการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อประให้ประสผลสำเร็จ ได้กล่าวว่า “ภาระงานอยู่ที่สำนักปลัด เรื่องการเป็นเจ้าภาพหลัก หัวหน้าส่วนจะต้องมีแนวคิดตรงกัน คุยกันก่อน และต้องมีความรู้เพื่อถ่ายทอดงาน โดยดูเจ้าหน้าที่ในแต่ละหน้าที่ให้ตั้งคณะกรรมการ โดยสำนักปลัดจะคอยช่วย เจ้าหน้าที่จะต้องมีความรู้เรื่องใบงาน ถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียน ดูความถนัดของเจ้าหน้าที่ ที่ทำอาชีพเสริมอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว คัดเลือกคน ประชุม ดำเนินการ และติดตามผลการทำงาน ในเรื่องของการทำงาน ถ้ามีงานอย่างอื่นมาทำให้ท้อก็จะประชุมกันเพื่อเดินงานต่อ โดยท่านนายกจะเป็นกำลังใจให้ พอมาถึงจุดนึงจะรู้ว่า อพ.สธ. ไม่ใช่งานเพิ่ม จะรู้ว่างานที่ได้ นำมาใช้ประโยชน์ในหน้าที่ เช่น ทำให้รู้ว่าบ่อน้ำแห่งไหนชำรุด ต้องซ่อมบำรุงให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ จากการสำรวจในพื้นที่ งาน อพ.สธ. จึงเป็นงานที่สามารถขยายต่อหรือส่งต่อให้กับชุมมชน และประชาชนต่อไปได้” และยังกล่าวว่า “สิ่งที่ได้จากการดำเนินงาน สิ่งแรก คือ มีความเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดความขัดแย้ง ในส่วนของชุมชนเราได้พัฒนาต่อยอดเรื่องการจำหน่ายสินค้าให้ ตัวบุคลากร ก็ได้มาเป็นวิทยากร งาน อพ.สธ. สอนให้ดึงศักยภาพออกมาใช้ ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน ทุกคนสามารถเป็นวิทยากรบรรยายได้ และ อบต. ก็เป็นที่ดูงานให้กับหน่วยงานอื่น ๆ”
นายรชต พรหมศร ผู้อำนวยการกองการศึกษาฯ องค์การบริหารส่วนตำบลกุดธาตุ อ.หนองนาคำ จ.ขอนแก่น กล่าวถึง การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นแรงจูงใจให้สมัครสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ดังนี้ “ท่านนายก ท่านปลัด ได้เข้าร่วมประชุมกับจังหวัด จึงมีแนวคิดในไปใช้กับตำบลที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ มีพื้นที่ติดกับเทือกเขาภูเวียง และเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ของผู้ต้องการหาผลประโยชน์ โดยสมัครเช้าร่วมสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นตั้งแต่ ปี 2558 รับป้าย ปี 2562 ใน 2 ปีแรก ยังไม่มีพี่เลี้ยง พยายามศึกษาแลกเปลี่ยนกับ ต.ห้วยเตย ต.บัวงเน ที่สมัครในช่วงเดียวกัน ซึ่งตอนแรกจะไม่รู้เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงาน จึงได้ไปดูงานที่ขนงพระ และเข้าร่วมฝึกอบรม มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจนได้ชิ้นงาน แต่ละใบงานก็จะมีความเกี่ยวข้องกับงานประจำของตัวเอง ซึ่งจะได้รู้ว่าชุมชนเรามีอะไร เมื่อมีการประเมิน วันที่ได้รับการประเมินทุกคนก็จะมีความภาคภูมิใจ จาก 2 ปีที่ว่าง ซึ่งท่านนายกกำลังจะหมดวาระจึงเกิดแรงบันดาลใจให้ทำงานให้ประสบผลสำเร็จและเดินงานต่อ”
ในส่วนของการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อประให้ประสผลสำเร็จ ได้กล่าวว่า “ทาง ต.กุดธาตุ มีการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วม ในระยะ 2 ปีหลัง จะทำอย่างไรให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โจทย์ที่ได้ตรงกับงานไหน ดึงคนในชุมชนที่รู้บริบทพื้นที่ เก็บข้อมูล และทุกวันพุธตอนบ่ายจะคุยกันถึงความก้าวหน้า และเรียนให้ผู้บริหารทราบ จากปัญหา 2 ปีแรก ไม่มีชิ้นงาน 2 ปีหลัง จะมีความมุ่งมั่นให้ประสบผลสำเร็จ งานไหนหน่วยไหนรับผิดชอบก็จะมอบให้หน่วยนั้นมีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินงาน” และยังกล่าวว่า “สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ความสามัคคีขององค์กร ในส่วนของบริบทชุมชนก็มีรายได้ จากการสำรวจชุมชน ทำให้รู้ว่าในชุมชนมีดีอะไรบ้างก็จะช่วยสนับสนุน”
นอกจากนี้ นายอำนาจ ชนชนะชัย ที่ปรึกษา อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน แนะนำแนวทางการดำเนินงานและให้กำลังใจแก่สมาชิก และผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนาในครั้งนี้