มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคลากรทางการศึกษาด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ในระหว่างวันที่ 4-5 มกราคม 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) และสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน
โดยวันที่ 4 มกราคม 2563 เวลา 09.00 น. ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานในการเปิดการอบรมดังกล่าวและกล่าวต้อนรับคุณครูผู้เข้าร่วมการอบรม และ รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวรายงานและให้เกียรติบรรยาย เรื่อง การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง Kyozai Kenkyu ในการใช้การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคุณครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ ได้รับสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากประเทศไทยแล้วยังเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองการขับเคลื่อนในระดับโลกอีกด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ส่วนหนึ่งคือ เรื่องการจัดการศึกษาโดยไม่เหลื่อมล้ำและการจัดการศึกษาโดยใช้นวัตกรรม ซึ่งทางสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนแห่งนี้มีเครื่องมือสำคัญคือ นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและการวิจัยแบบเปิด และยังได้มีการเผยแพร่ให้กับบุคลากรครูทั่วประเทศเพื่อสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และในนามของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ความสำคัญทั้งเรื่องของการวิจัยและพัฒนา การสร้างคน การบริการวิชาการ การจัดฝึกอบรมยังคุณครูในวิชาชีพที่สำคัญ เพื่อให้เกิดผลลัพท์กับนักเรียน มีพัฒนานักเรียน และมีคุณภาพกับประเทศไทยต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวถึง การจัดกิจกรรมอบรมฯในลักษณะนี้ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการขยายผลจากปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อปี 2557-2561 ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในโครงการ “การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”ซึ่งมีโรงเรียนในโครงการฯทั่วประเทศกว่า 120 โรงเรียน จากประวัติการทำงานของสถาบันฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงได้มอบหมายให้สถาบันฯ ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อเนื่อง ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการในโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 180 โรงเรียน 18 จังหวัด ทั่วประเทศ มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงเดือนสิงหาคม 2564
นายไวยากรณ์ ยะนะโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงเนียมบึงใคร่นุ่นท่าหิน สังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1 กล่าวว่า ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2550 ประสิทธิผลทางด้านครูในโรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอน ส่วนนักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ได้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันได้ผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยสูงระดับประเทศ เช่น การสอบ O Net มีนักเรียนสอบได้คะแนนเต็ม 100 จำนวน 1 คน ซึ่งมีความเห็นว่านวัตกรรมนี้เกิดประสิทธิผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาเวลา 13.30 น. ประกอบด้วยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเขียนแผนการสอนตามแนวทาง Kyozai Kenkyu ในการใช้การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในระดับประถมตอนต้น ระดับประถมตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
และในวันที่ 5 มค 2563 เป็นกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ (Open Class) รวมถึงการมอบหนังสือเรียนและสื่อการจัดการเรียนรู้ มูลค่ารวม 50,000 บาท ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ มีคุณครูโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่นเข้าร่วม จำนวน 22 โรงเรียน รวมถึงคุณครูโรงเรียนจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และศรีสะเกษเดินทางมาเข้าร่วมเรียนรู้อีก 3 โรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา บุคลากร ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวนกว่า 300 คน
ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง
ภาพ ไกรรัฐ มันหาท้าว, ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา