เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาฯ และราชบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบ ประเภทวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาโดยปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) โดยมี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ พร้อมด้วย ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การต้อนรับ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น)
คณะกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ได้เห็นชอบร่าง ประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องการรับข้อเสนอโครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรมผ่านกลไกการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และได้เห็นควรให้มีการทบทวนกลยุทธ์ (Revisit) แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility โดยในระยะต่อไปควรเน้นเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยเปิดโอกาสให้สถานประกอบการได้แสดงความต้องการมายัง อว. โดยที่ อว.จะสนับสนุนบุคลากรให้เข้าไปพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) ตามความต้องการของสถานประกอบการ
นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล และ ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ โดย สป.อว. ได้ดำเนินจัดทำโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ ซึ่งในปี 2563 มีการจัดสรรทุนทั้งสิ้น จำนวน 18 ทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยคณะกรรมการ ฯ ได้เห็นชอบให้ปิดโครงการแล้ว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาแขนเทียมกลหยิบจับสิ่งของได้สำหรับกำลังพลผู้ได้รับบาดเจ็บโดยการควบคุมแขนเทียมชีวสัญญาณ ของ รศ.พีระพงษ์ อุฑารสกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
2.โครงการพัฒนารูปแบบชุดพ่วงลาก ระบบกักเก็บพลังงานแบบลิเธียม ขนาด 10 kWh ร่วมกับเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ได้ สำหรับรถ UNIMOG และภารกิจของทหาร ของ ผศ.ยศธนา คุณาทร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3.โครงการพัฒนาเจลลี่เพื่อรับประทานที่มีพลังงานสูงจากแหล่งสารอาหารที่มีคุณภาพ ของ ศ.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การดำเนินการในโครงการดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในทางการทหารและในเชิงพาณิชย์ นับว่าความสำเร็จของโครงการที่กำลังร่วมกันพัฒนาจะสามารถตอบโจทย์ของ อว. ในด้านของการมุ่งพัฒนาอาจารย์นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของไทย และกองทัพในการพัฒนายุทโธปกรณ์ได้เป็นอย่างและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อไปในอนาคต
ข้อมูล: วัชรพล วงษ์ไทย สังกัดกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักอำนวยการ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ภาพ: ณัฐกานต์
ข่าว: พรสุดา , วรพิชชา