วันที่ 4 ธันวาคม 2564 ศ. ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.โสภณ บุญลือ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ผศ.ดร.ชูศักดิ์ พูนสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายสหกิจศึกษาและพัฒนานักศึกษา ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัล และคุณสุตาภัทร รักษา ได้เข้าร่วมกิจกรรมพิธีเชิดชูเกียรติ ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ และแสดงมุทิตาจิตแก่ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คนแรก โดยท่านคณบดีฯ ได้เข้าร่วมเสวนาในเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น แผนแม่บทการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำชี ณ เขื่อนอุบลรัตน์
ในการอภิปรายกลุ่มประกอบไปด้วย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศ์กร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการ พัฒนาประเทศไทย (TDRI) พลเอกชูชัย สินไชย อดีตประธานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์(สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ผู้แทน กฟผ. โดย ศ. ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้พูดถึงประเด็นการบริหารจัดการน้ำจากแม่น้ำโขงและลำน้ำชี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้
- การบริหารจัดการน้ำควรเป็นแบบกระบะทรายขนาดเล็ก (sand box) ที่เป็นพื้นที่ที่ให้ทุกฝ่ายมาจัดการ เพื่อลดปัญหาด้านกฏระเบียบ มีการสร้างงานวิจัยร่วมกัน แก้ปัญหาต่างๆ โดยหารูปแบบการจัดการแล้วนำไปขยายผลในเชิงกว้าง
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีผลงานวิจัยเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีการตอบโจทย์งานวิจัยด้าน Water Food Energy (WFE) โดยคณะวิทยาศาสตร์พร้อมที่จะนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างเต็มที่ เนื่องจากเรามีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พร้อมที่จะนำไปบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะนำองค์ความรู้ทางด้านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สร้างปัญญาประดิษฐ์ AI มาช่วยในการประกอบการตัดสินใจ ในการทำนายหรือพยากรณ์การในการจัดการน้ำ ทั้งนี้จะมีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์กับแหล่งอาหารของอนาคต (future food) จากสาหร่าย พืชน้ำ พืชไร่ และพืชชนิดใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างพลังงานจากน้ำ โดยเป็นพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ที่จะทำการแตกโมเลกุลของน้ำเพื่อให้เกิดเป็นแก๊สออกซิเจนและไฮโดรเจน เพื่อเป็นแหล่งเชื้อเพลิงของอนาคต ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์สามารถตอบโจทย์เรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อเป้าหมายของการช่วยเหลือชุมชนและสังคม ตอบโจทย์ของการเป็น Science for All และ All for water food energy (WFE)
ทั้งนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มร่วมมือทำงานกับมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต เพื่อวางแผนและบริหารจัดการถึงการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำชี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป