กิจกรรมพัฒนาต่อเนื่อง 3 ระยะพร้อมการ Work shop
ในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลได้โดยทันที
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดโครงการสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจัดโดย ฝ่ายกิจการพิเศษและกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพื่อให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารองค์กรและการส่งเสริมภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้รับรู้และเข้าใจทิศทางนโยบายและการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อการพัฒนาศักยภาพในการใช้เครื่องมือและวิธีการทางดิจิทัลของบุคลากรที่รับผิดชอบงานด้านการสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสื่อสารองค์กรผ่านเครื่องมือเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์จากทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยรวมทั้งบุคลากรกองสื่อสารองค์กรเข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 80 คน ซึ่งกิจกรรมได้ดำเนินการต่อเนื่อง 3 ครั้ง
สำหรับพิธีเปิดโครงการเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ห้องสิริคุณากร 4อาคารสิริคุณากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก อ.ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ นโยบายและความคาดหวังของมหาวิทยาลัยต่อเครือข่ายประชาสัมพันธ์ และ นาย ธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมกันนั้นยังยังจัดให้มีการเสวนาเรื่อง “อดีตปัจจุบันและอนาคตเครือข่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รับฟังปัญหาและข้อจำกัดในการทำงานเพื่อพัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ร่วมกัน” วิทยากรโดย นาย ธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร นางวัชรา น้อยชมพู นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ นาย อุดมชัย สุพรรณวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ บรรยายเรื่องแนวทางการจัดกิจกรรม “มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบสื่อมวลชน” วิทยากรโดยนายวรวิทย์ สิริภานุวัฒน์ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ และการบรรยายพิเศษพร้อมWork shopการใช้งานเว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรโดย นายชุมพร พารา นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ
กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยในระยะที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 เดือน ธันวาคม 2562 โดยนำตัวแทนผู้ปฏิบัติงานเครือข่ายประชาสัมพันธ์ที่ผ่านการอบรมในระยะที่ 1 เดินทางไปการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายประชุมสัมพันธ์ ที่ภูแก้วรีสอร์ท อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ นำโดย อ.ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและ นาย ธัญญา ภักดี ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้มีความรู้ความเข้าใจกลไกและเทคนิควิธีการสื่อสารองค์กรในด้านต่างๆผ่านสื่อกิจกรรมฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1.การสื่อสารข่าวเชิงลึกเพื่อการเพิ่มคุณค่า วิทยากรโดย นางสาวรวิพร สายแสนทอง นางวัชรา น้อยชมพู และ นายชุมพร พารา 2. การสื่อสารมหาวิทยาลัยผ่านเครือข่ายวิทยุ วิทยากรโดย นางเบญจมาภรณ์ มามุข นางสาวชุตินันท์ พันธุ์จรุง และนายบรรจง เศษวิสัย 3. เทคนิคการออกแบบกราฟิกเพื่อการสื่อสาร วิทยากรโดย นายอรรถพล ฮาร์มพงษ์ และนายณัฐวุฒิ เพชรประไพ 4. เทคนิคการสื่อสารผ่านภาพถ่ายและวีดิโอพรีเซนเทชั่นวิทยากรโดย นายอรรถพล ฮาร์มพงษ์นายณัฐวุฒิ เพชรประไพ นายณัฐพงษ์ ชำนาญเอื้อ และนายชายชาญ หล้าดาและ5. การสื่อสารมหาวิทยาลัยผ่านกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์เวทีกิจกรรม งานแถลงข่าวมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบสื่อมวลชน งานต้อนรับ งานกิจกรรมสังคม และการสื่อสารผ่านภาพถ่ายเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรโดย นางสาววัลยา ภูงาม นายอภิฉัตร มณีจักร์ นางสาวจุฑามาศพิลาชัย และนายบริพัตร ทาสี นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมยกย่องชมเชยเครือข่ายหน้า1 เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานการประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของคณะหน่วยงาน
นายชุมพร พารา นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ วิทยากรผู้พัฒนาเว็ปไซต์ใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและระบบการโพสข่าว กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันเรามีสื่อโซเชียลที่ทรงพลังเป็นเครื่องมือสื่อสารแต่ด้วยเหตุผลสำคัญที่เรายังต้องมีและพัฒนาเว็บไซต์ขององค์กรให้เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้คณะหน่วยงานได้มาใช้สื่อนี้ในการประชาสัมพันธ์สื่อสารองค์กรเพราะ 1.องค์การต่างๆรวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ จะนำเสนอเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือได้สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลข่าวสารมาไว้ในเว็บไซต์เป็นหลัก แล้วใช้สื่อโซเชียล เช่น ใช้เฟซบุ๊ก/ไลน์ ที่เข้าถึงผู้คนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงนำพาผู้เข้าชมมาสู่เว็บไซต์ 2. เว็บไซต์ เป็นเสมือน “บ้าน” ซึ่งเราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงสามารถบริหารจัดการปรับแต่งทั้งรูปแบบและเนื้อหาจัดหมวดหมู่ ได้ดีกว่าสื่อโซเชียลที่มีข้อจำกัดคล้ายกับการที่เราไปเช่าอาศัย 3. การมีเว็บไซต์ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการติดต่อให้ข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อองค์กรของเรา เช่นการส่งข้อมูลจากลิ้งค์ urlของเว็ปไซต์จะมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยกว่า url ของ facebook และสื่อโซเชียลอื่นๆ ดังจะเห็นได้ว่าในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยข้อมูลหลักฐานที่ใช้ประกอบการตัดสินล้วนมาจากเนื้อหาที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์เป็นหลัก รวมทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมผลงานประจำปีล้วน ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ในการสืบค้นและอ้างอิงผลงานของแต่ละคณะหน่วยงาน และสุดท้าย 4.เว็ปไซต์เป็นช่องทางที่Google Search Result ค้นหาได้ดีกว่าสื่อโซเชียลย่อมหมายถึงโอกาสของผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยซึ่งรวมถึงนักเรียนมัธยมสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
จากการเปลี่ยนแปลงระบบการเผยแพร่ข่าวสารผ่านเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีตัวแทนเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานจากคณะหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมทั้งวิทยาเขตหนองคายได้รับสิทธิ์เพื่อการเสนอข่าวด้วยตนเองบนหน้าของเว็ปไซต์ th.kku.ac.th แล้วจำนวน 79 คนซึ่งได้เริ่มใช้งานจริงและมีการเสนอนำข่าวสารของหน่วยงานตนเองแล้วตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
ข่าว อุดมชัย สุพรรรณวงศ์
ภาพ บริพัตร ทาสี อรรถพล ฮาร์มพงษ์