U2T คณะเกษตรศาสตร์ มข. บูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังปลายฤดู เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการฝึกอบรมให้นักศึกษา และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งมันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังปลายฤดูฝน ให้กับตัวแทนเกษตรกรกลุ่มมันแปลงใหญ่และผู้ปลูกมันสำปะหลังบ้านหัวนากลาง ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น  ภายใต้การทำงานของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ) หรือ U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร. อรุณี พรมคำบุตร เป็นผู้ประสานงานตำบล จัดการอบรม ณ โรงเรียนบ้านหัวนากลาง ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น และมี ว่าที่ ร.ต.ดร. อนุชา เหลาเคน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม เป็นวิทยากร การจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีการเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมและการไถระเบิดดินดานรวมทั้งการใช้ปุ๋ยแบบสั่งตัด ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ที่เรียนรายวิชา การจัดการเรียนรู้และฝึกอบรมทางการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มข. เป็นผู้จัดเตรียมการฝึกอบรมร่วมกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 21 คน

บ้านหัวนากลางมีพื้นที่ทั้งหมด 5,631 ไร่ โดยมีพื้นที่การเกษตรประกอบด้วย พื้นที่ทำนา 3,125 ไร่ (55.49%) พื้นที่ทำไร่ 2,132 ไร่ (37.86%) และไม้ยืนต้น 12 ไร่ (0.21%)  ในพื้นที่ไร่ เกษตรกรจะใช้ประโยชน์โดยการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังสลับกัน ขึ้นอยู่กับราคารับซื้อผลผลิตในแต่ละปี ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอชนบท พบว่า ในปีการผลิต 2563/64 เกษตรกรในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวน 25 ไร่ โดยแบ่งเป็น มันต้นฝนซึ่งปลูกช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม และมันปลายฝน ซึ่งปลูกช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน จากการวิเคราะห์ชุมชนของโครงการฯ พบว่า เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังปลายฤดูประสบปัญหาอายุการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังสั้น ประมาณ 7-8 เดิอน เนื่องจากพื้นที่เกิดน้ำขังในฤดูฝน ทำให้ผลผลิตต่ำเพียงประมาณ 3 ตันต่อไร่ และเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำอยู่ระหว่าง 20-25 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ประกอบกับ ต้นทุนการผลิตที่เป็นค่าปุ๋ยเคมีสูง หรือประมาณ 1,200 บาทต่อไร่ จากทั้งหมด 4,370 บาทต่อไร่ หรือคิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนทั้งหมด โครงการฯ จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมดังกล่าวขึ้น เพื่อนำเสนอวิธีในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร โดยมีนักศึกษาชระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มข. เป็นผู้จัดเตรียมการฝึกอบรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชา  การจัดการเรียนรู้และฝึกอบรมทางการเกษตร ซึ่งมี ผศ.ดร. อรุณี พรมคำบุตร และรศ. ดร. ไกรเลิศ ทวีกุล เป็นผู้สอน

ในการอบรม วิทยากรได้ให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ในเรื่อง การเลือกใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ การเตรียมดิน การจัดการและการเตรียมท่อนพันธุ์ เพื่อให้มันสำปะหลังมีอัตราการงอกสูง และลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและแมลงที่ติดมากับท่อนพันธุ์ การกำจัดและควบคุมวัชพืชทั้งแบบใช้การไถพรวน และการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ถูกชนิดและถูกอัตราความเข้มข้น พร้อมข้อควรปฏิบัติในการฉีดพ่นสารเคมี การป้องกันกำจัดแมลงและโรคสำคัญในมันสำปะหลัง พร้อมเฝ้าระวังและแนะนำการปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใหม่ และโรคร้ายแรงในมันสำปะหลัง โดยเฉพาะโรคใบด่างมันสำปะหลัง การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับชนิดดิน การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ 3 (PGPR-3) ของกรมวิชาการเกษตรในการแช่ท่อนพันธุ์หรือผสมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งจะทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 25% และช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้ถึง 10% หรือการสังเกตและเฝ้าระวังปุ๋ยปลอมในพื้นที่ ตามภาระหน้าที่สารวัตรเกษตรของกรมวิชาการเกษตร การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่เหมาะสมตามชนิดพันธุ์ที่ใช้ และปัจจัยที่ส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์แป้งมันสำปะหลังในช่วงเก็บเกี่ยว  พร้อมทั้งได้สาธิต การใช้แอพลิเคชั่น “ปุ๋ยรายแปลง” ของกรมพัฒนาที่ดิน ในการคำนวณปริมาณปุ๋ยจากแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดเพื่อผสมปุ๋ยให้เหมาะสมกับมันสำปะหลัง และแนะนำเทคนิควิธีในการผสมปุ๋ยและข้อควรคำนึงถึงในการผสมปุ๋ยใช้เอง

ว่าที่ ร.ต.ดร. อนุชา เหลาเคน วิทยากร กล่าวว่า “หากเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง จะทำให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยในมันสำปะหลังได้อย่างน้อย 300-400 บาทต่อไร่ และหากใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตที่แนะนำก็จะทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลงได้อีก”

โครงการฯ ร่วมกับวิทยากร ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหามันสำปะหลังเน่าในหน้าฝน โดยใช้ 2 กรรมวิธีคือ 1. การเปลี่ยนพันธุ์ โดยแนะนำให้ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 ซึ่งเป็นมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร เป็นมันสำปะหลังอายุสั้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน สามารถให้ผลผลิตได้สูงถึง 4.6 ตันต่อไร่  ซึ่งสูงกว่ามันสำปะหลังพันธุ์เดิมที่เกษตรกรใช้คือระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 ถึง 5 และ 4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงถึง 29% ที่อายุ 8 เดือน  และ 2. การไถระเบิดดินดาน โดยไถด้วยผานไถระเบิดดินดานให้ลึกมากกว่าชั้นดินดานหรืออย่างน้อย 60 เซนติเมตร ซึ่งวิธีแนะนำดังกล่าว สอดคล้องกับกลุ่มมันแปลงใหญ่ในหมู่บ้านที่ได้รับสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรจากกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที โดยโครงการฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น จำนวน 6 คน

ในการจัดการเรียนการสอนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวนั้น นักศึกษาในรายวิชา ได้ทำการจัดเตรียมกำหนดการในการฝึกอบรม เอกสารประกอบการฝึกอบรม คำกล่าวเปิดของประธานในการฝึกอบรม แบบทดสอบความรู้ และความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการอบรม รวมถึงการติดต่อประสานงานกับวิทยากร และเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อจัดงานฝึกอบรมเองไม่ได้ อาจารย์ผู้สอน จึงได้บันทึกวีดีโอการอบรม และนำมาอภิปรายในห้องเรียน ซึ่งทำให้นักศึกษาได้เข้าใจ และเห็นบรรยากาศการจัดการฝึกอบรมจริง ไม่เพียงเป็นการบรรยายในชั้นเรียน พร้อมได้อภิปรายถึงข้อดีและข้อเสียและวิธีการแก้ไขในแต่ละช่วงของการฝึกอบรม

นางสาวมาศสุภา ศรีสถาน นักศึกษากล่าวว่า “การเตรียมการฝึกอบรมดังกล่าว ทำให้ตนได้ลงมือทำในหัวข้อที่รับผิดชอบจริง และได้เข้าใจว่าในการจัดการฝึกอบรมมีจุดที่ควรระวังอะไรบ้าง และจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้มาก”

ผศ.ดร. อรุณี พรมคำบุตร อาจารย์ผู้สอนและผู้จัดการฝึกอบรม กล่าวว่า “ในฐานะของผู้ที่จะจบออกไปเป็นนักส่งเสริมฯ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้าใจตั้งแต่การค้นหาประเด็นปัญหาในพื้นที่ การแสวงหาความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะนำมาแก้ไขปัญหา การติดต่อประสานงานกับวิทยากร และการอำนวยความสะดวกวิทยากรและเกษตรกรเพื่อให้การถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นไปสู่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิผล ทำให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ได้ นักศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริงด้วยตนเอง เพื่อให้รู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที เมื่อจบออกไปทำงาน”

สุดท้ายนี้ผู้ดำเนินโครงการฯ ขอขอบคุณ ว่าที่ ร.ต.ดร. อนุชา เหลาเคน นักวิชาการเกษตรชำนาญการและทีมงาน จากจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม  ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ ขอขอบคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวนากลาง นายชัยบดี เดชบุรัมย์ ที่อนุญาตในการใช้สถานที่ในการฝึกอบรม และเป็นประธานในการเปิดการฝึกอบรม ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข นายวสันต์ แก้วศรี และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมการดำเนินการป้องกันโรคโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐ  โครงการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทุกท่าน ทำให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติและถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมได้

 

ข่าว: นางสาวขวัญนภา หินคล้าย นางสาววลัยพรรณ ปรีระดิษฐ์ นางสาวสุริยาพร คำหาร และนายธนะพัฒน์ ต้นกันยา  นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มข.

ภาพ: ผู้ปฎิบัติงาน U2T พื้นที่ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

 

Scroll to Top