อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำโดย นางสาวพรชวรัตน์ ฐานมั่น ผู้จัดการแผนกประสานความร่วมมืออุตสาหกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่่ติดตามและประเมินผลโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพการผลิตเส้นโปรตีนจากแป้งข้าวทับทิมชุมแพ เสริมโปรตีนจากผงจิ้งหรีด” ผลงานการวิจัยของอาจารย์วรรณศิริ วรรณสืบเชื้อ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หัวหน้าโครงการฯ และคณะ ในกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to community) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนค้นแมลง คณะผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม ณ วิสาหกิจชุมชนฅนต้นแมลง ตำบลโนนหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการสำรวจ ประเมินศักยภาพและความต้องการของชุมชน พบว่า วิสาหกิจชุมชนฅนค้นแมลง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้ประกอบกิจการทำฟาร์มจิ้งหรีด ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจิ้งหรีด ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตร คือ ข้าวทับทิมชุมแพ ซึ่งมีเมล็ดข้าวสีแดงคล้ายสีทับทิมและมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ ฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ โดยมีความต้องการที่จะต่อยอดวัตถุดิบที่มีอยู่พัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ เส้นโปรตีนจากแป้งข้าวทับทิมชุมแพเสริมโปรตีนจากผงจิ้งหรีด จากนั้นอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จึงเชื่อมโยงนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ โดยคณะนักวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และกระบวนการผลิตแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนค้นแมลง ตลอดจนพัฒนาเส้นโปรตีนให้มีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม ไม่ขาดง่าย เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับผู้บริโภค ซึ่งผู้เป็นโรคภูมิแพ้กลูเตน (celiac disease) สามารถรับประทานได้ ผลลัพธ์ที่เกิดจากโครงการฯ ช่วยให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนได้สูตรการผลิตที่เหมาะสม ทำให้เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม ไม่ขาดง่าย และได้ค่ามาตรฐาน สร้างโอกาสในการขยายตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ นำไปสู่การสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เกิดการพึ่งพาตนเองและพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to community) เป็นกิจกรรมในแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area-based Innovation for Community) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ผ่านกลไกการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อมุ่งยกระดับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานนวัตกรรมของประเทศไทย ต่อไป
ภาพ / ข้อมูล : อารยา
ข่าว : ณัฐกานต์