U2T คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การขยายพันธุ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และพืชเอกลักษณ์ท้องถิ่นในป่าชุมชน” ณ วัดป่าสีลธโน และวัดป่าคีรีวัน ตำบลโคกงาม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล: U2T) ที่รับผิดชอบพื้นที่โดยสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ปฏิบัติการ “การขยายพันธุ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และพืชเอกลักษณ์ท้องถิ่นในป่าชุมชน” ณ วัดป่าสีลธโน และวัดป่าคีรีวัน ตำบลโคกงาม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลโคกงาม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยมี อาจารย์ ดร.ศุภณัฏฐ์ กาญจนวัฒนาวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาพืชสวนและผู้ประสานงานตำบลโคกงาม พร้อมคณะทำงาน ดำเนินการจัดการฝึกอบรมฯ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเอกลักษณ์ท้องถิ่น ได้แก่ ฝางเสน เพื่อการใช้ประโยชน์ในเป็นรายได้หมุนเวียนในอานคต อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้กับชุมชนอีกด้วย
โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “การขยายพันธุ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และพืชเอกลักษณ์ท้องถิ่นในป่าชุมชน” ซึ่งเป็นจัดอยู่ในการพัฒนาด้านการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (เพิ่มรายได้หมุนเวียนให้ชุมชน) ตามวัตถุประสงค์ของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการฯ กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทางอาจารย์ผู้ประสานงานพื้นที่ อาจารย์ ดร. ศุภณัฏฐ์ กาญจนวัฒนาวงศ์ สาขาพืชสวน ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชเอกลักษณ์ท้องถิ่นและสมุนไพรได้เล็งว่า พื้นที่ตำบลโคกงาม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น มีพืชชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพืชเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ชาวบ้านหรือบุคคลทั่วไปเรียนว่า “ฝาง” พบเห็นได้ยากและยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แม้ว่าจีคุณประโยชน์มากมายทั้งเป็นพืชสมุนไพรใช้ในการต้มดื่มและมีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้ เช่นอุตสาหกรรมท่อผ้าท้องถิ่นก็สามารถนำฝางมาใช้ในการย้อมสีผ้าได้และเป็นส่วนผสมของผลิตพันธ์อื่นๆด้วย แต่ในปัจจุบัน ฝาง มีปริมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยได้ตระหนักถึงการปลูกหรือฟื้นฟูพืชชนิดนี้ จึงทำให้ในพื้นที่ตำบลโคกงาม มีปริมาณต้นฝาง ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการในการใช้ของผู้ในด้านต่างๆ อีกทั้งยังไม่มีกิจกรรมหรือโครงการของท้องถิ่นในการปลูก ดูแล อนุรักษ์ และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า ดังนั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 คณะทำงานจึงได้นำเสนอกิจกรรมของโครงการซึ่งประกอบด้วยการปลูกและดูแลต้นฝางในพื้นที่ป่าชุมชน และการศึกษาขยายพันธุ์ฝางด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แก่ที่ประชุมผู้นำชุมชนซึ่งประกอบด้วยปลัดเทศบาลตำบลโคกงาม พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลโคกงาม ซึ่งได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินกิจกรรมนี้ขึ้น
ในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสุริยา โภชกะ หัวหน้าสวนรุกขชาติน้ำพอง (โสกแต้) มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นฝาง การดูแล รวมถึงสรรพคุณต่างๆ โดยมีคุณพุดตาล ดอนวิจาร์ ปลัดตำบลโคกงาม ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมฯ ในครั้งนี้ จาก 10 หมู่บ้าน รวม 80 คน เดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือพื้นที่ป่า วัดป่าสีลธโน บ้านโคกงาม และวัดป่าคีรีวัน คำหวายยาง บ้านปากช่อง ตำบลโคกงาม อำเภอบ้านฝาง รวม กว่า 500 ต้น โดยทีมงานได้นำเทคนิคการปลูกพืชอย่างประณีตของพืชสวน ได้แก่ การผสมสารพอลิเมอร์ (สารอุ้มน้ำ) ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้มากกว่า 200 เท่า และมีอายุใช้งาน 2-3 เดือน ผสมที่ก้นหลุมปลูกเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหลังปลูก อีกทั้งมีการผสมปุ๋ยออสโมโค้ต (ปุ๋ยละลายช้า) ที่สามารถปล่อยธาตุอาหารอย่างช้าๆมีอายุ 3 เดือนเพื่อส่งเสริมการเจริญของต้นฝางที่ปลูกครั้งนี้ทุกต้น
นอกจากนี้คณะทำงานตำบลโคกงามยังได้เตรียมน้ำต้มสมุนไพรจากแก่นฝางเสน ให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่านได้ชิมและมองเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ทุกท่านให้ความสนใจเป็นอย่างมากและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทางคณะทำงานทีมงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านที่ให้ความสนใจและตระหนักถึงการอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและพืชเอกลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อการมีอยู่มีใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืนซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของโครงการ U2T นี้
ข่าวโดย : เสกสรร จันทร์ทา