คณะนิติศาสตร์ออกบริการความรู้ด้านกฎหมาย พร้อมสร้างเครือข่ายและพื้นที่การเรียนรู้ให้นักศึกษา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด “โครงการการประชุมพัฒนาความรู้กฎหมายและสิ่งแวดล้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชน” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ณ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562  ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัด “โครงการประชุมพัฒนาความรู้กฎหมายและสิ่งแวดล้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชน” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ณ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาลงพื้นที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชุมชน ตลอดจนร่วมเรียนรู้กฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้ที่ดิน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และรับฟังสภาพปัญหาของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่

ในภาคเช้ามีการอภิปราย “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง” โดยมีวิทยากรทั้งภาครัฐ นักวิชาการและภาคประชาสังคม โดยการอภิปรายมีใจความสำคัญในเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจนิเวศน์วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงที่ต้องรักษาความสมดุล และใช้ประโยชน์อย่างไรให้ยั่งยืน และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและกฎหมายป่าชุมชนฉบับใหม่ กระบวนการและขั้นตอนการขอจัดตั้งป่าชุมชน ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ และแนวปฏิบัติและอำนาจในการใช้สิทธิของชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562

ต่อมาในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ป่าชุมชนทั้ง 15 หมู่บ้านในพื้นที่ 4 ตำบล ในประเด็นบทเรียนและประสบการณ์การรักษาป่าชุมชน แผนการจัดการป่าชุมชน และข้อเสนอแนะจากชุมชน ทั้งนี้พบว่าชุมชนมีปัญหาการไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ทำให้มีประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งทุนกู้ยืมและการช่วยเหลือจากรัฐ การมีพื้นที่ป่าชุมชนทับซ้อนกับที่ทำกินบางส่วน โดยชุมชนได้มีข้อเสนอแนะคือ ชุมชนควรมีแผนการจัดการป่าชุมชนทั้งระบบ การมีสิทธิในต้นไม้ที่ปลูก การกันแนวเขตให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ทำกิน  การสร้างความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชน การจัดการป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการมีเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการสนับสนุนการดูแลจัดการป่าชุมชน ตลอดจนการพัฒนาทักษะและความรู้ของคณะกรรมการป่าชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงพื้นที่บริการวิชาการสู่สังคม ด้วยการเน้น “การบริการวิชาการด้านการสร้างคุณค่าร่วม” (Creating Shared Value: CSV)  และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับนักศึกษาในการมีนิติทัศนะรับใช้สังคม (Social Engagement) โดยคณะเป็นสะพานเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน (Co – Creation) ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงทางสังคมและความเป็นธรรมทางสังคม และร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมในมิติทางกฎหมายอีกด้วย

Scroll to Top