เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการเสวนาเรื่อง แผนพัฒนาพื้นที่ชานเมืองขอนแก่นกับการท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชนพุทธเกษตร ณ ตลาดพุทธเกษตรสงเปือยฮ่องเดื่อ ๖๔ วัดป่ารัตนาราม ภายใต้โครงการบริการวิชาการ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเกษตร ณ ตลาดพุทธเกษตรสงเปือยฮ่องเดื่อ ๖๔ ตำบลบึงเนียม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วณิชชา ณรงค์ชัย รองคณบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์และวิจัย อ.ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ หัวหน้าโครงการบริการวิชาการ นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นางชุณห์พิมาณญ์ ด่านขุนทด ปลัดอำเภอเมืองขอนแก่น นางเพ็ญศรี มีทองหลาง เกษตรอำเภอเมืองขอนแก่น ผู้แทนพัฒนาการอำเภอเมืองขอนแก่น และนายณัฐพงศ์ เดชแพง นายกเทศมนตรีตำบลบึงเนียม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยชาวบ้านและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้ กว่า 100 คน ท่ามกลางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างานและสวมหน้ากากอนามัยตลอดการจัดการเสวนา
ในการจัดการเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการทางวิชาการของชุมชนสงเปือย ต่อการแก้ไขปัญหาการจัดการฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรมและเพื่อออกแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเกษตร โดยในช่วงแรก อ.ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ หัวหน้าโครงการบริการวิชาการฯ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาต่อประธานในพิธี พระเทพพุทธิมุนี (สันติ์ ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (พระอารามหลวง) เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) กล่าวเปิดการเสวนา ซึ่งการจัดเสวนาเรื่อง แผนพัฒนาพื้นที่ชานเมืองขอนแก่นกับการท่องเที่ยววัฒนธรรมชุมชนพุทธเกษตร ณ ตลาดพุทธเกษตรสงเปือยฮ่องเดื่อ ๖๔
นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า พื้นที่สงเปือยฮ่องเดื่อ เดิมเป็นป่าบุ่ง ป่าทาม อันเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำพองและลำน้ำชี จนเกิดแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ ที่มีชื่อเรียกพื้นถิ่นหลากหลาย เช่น บึง กุด สง ฮ่อง โสก ดังนั้น น้ำ คือ ชีวิต น้ำจึงก่อให้เกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีผู้คนชุมชนสงเปือยฮ่องเดื่อจึงเป็นแหล่งเกษตรกรรมปลูกพืชผัก ที่มีความสำคัญยิ่งของขอนแก่น เพื่อพัฒนาพื้นที่จากฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเกษตร
อ.ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ กล่าวว่า ชุมชนชานเมืองขอนแก่น สงเปือยฮ่องเดื่อ เป็นชุมชนชานเมืองที่มีศักยภาพเศรษฐกิจชุมชนจากฐานรากพุทธเกษตรสู่การท่องเที่ยววัฒนธรรมในมิติอาหารและสุขภาพ ดังนั้น ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านสงเปือยฮ่องเดื่อได้นำเสนอศักยภาพของชุมชน เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจากฐานทุนทางวัฒนธรรม โดยใช้วิธีสหวิทยา เช่น ศึกษาประวัติศาสตร์ความทรงจำจากคำบอกเล่าของปราชญ์ชุมชน ชุมชนสงเปือยฮ่องเดื่อจึงเป็นแหล่งรวมความรู้ ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พืชพรรณ สมุนไพร และพันธุ์ปลา รวมทั้งเพิ่มจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้ามาเสริม อันจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมกระตุ้นสำนึกรักท้องถิ่นสู่การอนุรักษ์วิถีพุทธ
นอกจากนั้น ภายในงานเสวนา ชาวบ้านสงเปือยฮ่องเดื่อยังได้นำวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณค่ามารังสรรค์เป็นเมนูอาหารต่าง ๆ มานำเสนอจนเกิดสำรับกับข้าวที่ชื่อว่า “พาสวยสงเปือยฮ่องเดื่อเพื่อสุขภาพ” พร้อมกันนั้นยังได้รับเกียรติจาก คุณณัฏฐภรณ์ คมจิต ผู้จัดการเพจ และร้านอาหาร “เฮือนคำนาง” ได้บรรยายสอดแทรกองค์ความรู้สรรพคุณของวัตถุดิบในเมนูอาหารต่าง ๆ ดังนั้น ทุกคำและทุกรสที่ได้สัมผัส จึงมีความอร่อยนัวกลมกล่อมนอกเหนือคำบรรยาย รวมทั้งยังได้อิ่มท้อง อิ่มใจ และมีคุณค่าในเมนูอาหารอีกด้วย
HUSO, KKU serves the community by providing academic service in Agricultural Buddhism Tourism
ข่าว: ภาวดี มาพันธ์
ข้อมูล/ภาพ : กลุ่มวิจัยและบริการวิชาการ