สำนักข่าว : บ้านเมือง
URL : https://xn--72cac3eaq9bcv5cya9dxa1bzjl0kh6f.com/archives/285147
วันที่เผยแพร่ : 25 มีนาคม 2564
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 25 มีนาคม ที่ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (ระยะที่ 1) โดยมี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ดร.บูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการคุรุสภา, ดร.เจริญ ภูวิจิตร์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา, Mr. Masahiro Oji, Vice President of National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น, ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรจากองค์กรทั้ง 4 ฝ่าย, ผู้บริหารและรองผู้บริหารสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน และขอขอบคุณที่ท่านไว้วางใจให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพของท่าน โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในครั้งนี้ นับว่าเป็นโครงการที่สำคัญตามนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม (Center of Social Wisdom) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการจากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ผ่านการดำเนินโครงการทั้ง 4 ระยะ โดยผู้เข้าร่วมการอบรมทุกท่าน จะได้ร่วมเรียนรู้และมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียนด้วยนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมหลักของสถาบันฯ ได้ร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมการจัดการชั้นเรียนจากกรณีศึกษาและกระบวนการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการชาวไทยและวิทยากรชาวญี่ปุ่น
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวและว่า จากความร่วมมือเพื่อร่วมขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดการการศึกษา ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ร่วมกับหน่วยงานในระดับประเทศ ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง ความร่วมมือกับเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษากับต่างประเทศ สถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น ความร่วมมือนี้จะนำมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการ ให้มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวขอขอบคุณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่นสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และสถาบัน National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น เป็นอย่างสูง ที่ร่วมมือขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ. 2561 มาจนถึงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็น รุ่นที่ 3 แล้ว และขอขอบคุณผู้ร่วมจัดงานทุกท่าน ขอให้การดำเนินงานในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ด้าน รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในนาม สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระผมต้องขอขอบคุณท่านประธานเป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติมาเปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รุ่นที่ 3 (ระยะที่ 1)” ในวันนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นโครงการสำคัญตามนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่น สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม (Center of Social Wisdom) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการบริหารวิชาการจากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ผ่านโครงการดังกล่าว โดยโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้มีศักยภาพด้านการพัฒนาทางด้านการจัดการองค์ความรู้ ด้านการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) การจัดการชั้นเรียนให้มีคุณภาพ (Classroom management) และภาวะผู้นำ (Leadership) โดยโครงการนี้ เป็นความร่วมมือ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 3. สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และ 4. National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น
รศ.ดร.ไมตรี กล่าวอีกว่า โครงการนี้กำหนดการดำเนินการ เป็น 4 ระยะ ได้แก่ระยะที่ 1 การพัฒนาเกี่ยวกับบริบทการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะที่ 2 การเข้าร่วมการพัฒนาเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียน และกระบวนการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น ณ สถาบัน NITS ประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงปรับเปลี่ยนการดำเนินการ จากการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เป็นการเข้าร่วมการพัฒนาทางออนไลน์ ระยะที่ 3 การนำความรู้ที่ได้จากการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาระยะที่ 4 การติดตามและประเมินผล ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ส่วนกิจกรรม ระยะที่ 1 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2564 มีกิจกรรมดังนี้ 1. กิจกรรมระหว่างวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2564 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) ประกอบด้วย 1. การบรรยายองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดย รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน 2. การการเสวนาเกี่ยวกับ ประสบการณ์ในการใช้นวัตกรรม ในบริบทเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดย ผู้บริหารจากหน่วยงานความร่วมมือ 4 ฝ่าย 3. การเสวนาเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดย ผู้บริหารที่เคยเข้าร่วมโครงการ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 4. กิจกรรมการศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) จังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Open Class) ตามกระบวนการการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) และกิจกรรมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ 2. กิจกรรมระหว่างวันที่ 27 – 28 มีนาคม 2564 การเข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ (National Open Class) ครั้งที่ 14 ผ่านทางออนไลน์ “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รุ่นที่ 3 นี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครู ฝ่ายวิชาการ รวมทั้งสิ้น 100 คน”รศ.ดร.ไมตรี กล่าวท้ายสุด.