เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา (Thailand Acardemi of Social Sciences, Humanities and Arts –TASSHA) จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในบริบทปัจจุบัน : จากมุมมองจดหมายเหตุเพื่อนบ้าน ชาติมหาอำนาจ และนักวิชาการ” ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนา และอาจารย์ ดร.กันตพงศ์ จิตต์กล้า รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล รายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงาน พร้อมด้วยเครือข่ายคณะทำงานด้านภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 200 คน จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 3218 อาคาร HS03 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น




ในการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งภาคเช้าเริ่มต้นด้วยการรับฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Strategy of Connectivity: Belt and Road Initiative, ASEAN, and Mekong Sub-region” โดย ดร.สุวิทย์ มังคละ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นเป็นช่วงการเสวนาทางวิชาการจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคศึกษา สื่อมวลชน และความสันพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ การเมือง ผู้คน สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สำหรับกิจกรรมในภาคบ่ายมีการเสวนาโต๊ะกลมจากนักวิชาการด้านจดหมายเหตุ ประวัติศาสตร์ ภาษากับสังคม เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และวรรณกรรม ภายใต้ 2 หัวข้อหลัก เรื่อง “โลกข้ามแดนในมุมมองภูมิภาคศึกษา ประวัติศาสตร์ และภาษากับสังคม” และ “โลกข้ามพรมแดนในบริบทสหวิทยาการ: สังคมสุขภาวะ เศรษฐกิจ วรรณกรรม สถาปัตยกรรม” นอกจากนี้ ยังมีการกิจกรรม Workshop เพื่อเสริมสร้างความรู้และการแข่งขันตอบปัญหาชิงรางวัลในหัวข้อ “ประเทศไทยในเวทีโลก” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วภาคอีสาน เข้าร่วมแข่งขันกว่า 14 ทีม จัดขึ้น ณ ห้อง Smart Learning 4A อาคารรัตพิทยา และได้รับเกียรติจาก คุณฉัตต์ธิดา บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ แห่งประเทศไทย หรือ ธัชชา (Thailand Acardemi of Social Sciences, Humanities and Arts –TASSHA) มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ชนะการแข่งขัน ผลการแข่งขันสามารถสรุปได้ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ : โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
รางวัลชมเชย: โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร และ โรงเรียนกัลยาณวัตร
การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่ได้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในการกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต ทั้งยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติอีกด้วย
ข่าว/ภาพ : กลุ่มสื่อสารองค์กร