“โฮมดิน”นิทรรศการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างผลงานประติมากรรมของคณาจารย์ นักศึกษาและศิลปิน

        วันที่ 3 มีนาคม 2564 เวลา15.00 น.. ณ ลานประติมากรรม หอศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการจัดแสดงนิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” ครั้งที่ 1 โดย มี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รองอธิการบดี ผู้บริหาร คณบดี ประธานหอการค้า วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และศิลปิน คณาจารย์ นักศึกษาจากสถาบันที่เข้าร่วมจัดงาน

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการจัดแสดงนิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” ครั้งที่ 1

        รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าการจัดแสดงนิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้จัดขึ้นโดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาและศิลปินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างผลงานประติมากรรมของคณาจารย์ นักศึกษาและศิลปินที่ ในระหว่างวันที่ 18-23 ธันวาคม 2563 เป็นเวลา 5 วัน ณ แหล่งเรียนรู้ทางด้านเครื่องปั้นดินเผาระดับประเทศชุมชนด่านเกวียน ตำบลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจำนวน8สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิและศิลปินมีชื่อเสียงในระดับประเทศ ศิลปินร่วมสมัยด่านเกวียนและศิลปินอิสระ จำนวนรวมกว่า 50 คน

        “หลังจากการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสร็จสิ้นลงจึงได้นำผลงานทั้ง 51 ชิ้นมาติดตั้งเป็นนิทรรศการถาวรที่ทรงคุณค่าและงดงาม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ซึ่งในการจัดโครงการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรวบตัวของคณาจารย์ นักศึกษา ศิลปินทั่วภาคอีสานแล้ว ยังถือว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ (Creative Space)ให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานร่วมกับ 8 องค์กรเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่นไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น”รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กล่าว

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นประธานกล่าวเปิด ว่า นิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” เป็นงานที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของการสร้างสรรค์ ซึ่งผมได้เล็งเห็นความสำคัญของงานในครั้งนี้อยู่ 5 ส่วนหลักคือ 1.ทุกสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำเพื่อเป็นการเปิดประตูสู่สังคมภายนอกซึ่งรวมถึงงานครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของการที่ทำให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองน่าอยู่ 2.เป็นผลงานศิลปะสร้างสรรค์อันเกิดจากการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ นักศึกษาและศิลปิน 3.เราได้ใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเพื่อแสดงผลงานของภาคอีสานที่มีคุณค่าเช่นงานเครื่องปั้นอันเป็นภูมิปัญญาโบราณเกิดผลงานร่วมสมัยที่ประชาชนสามารถเข้ามาชมศึกษาเรียนรู้ 4.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างผลงานในแบบนี้จะไปช่วยเสริมรากเหง้าภูมิปัญญาให้มีการสืบสานพัฒนาและ 5.เป็นโอกาสที่ผมจะได้แสดงความชื่นชมและขอบคุณในความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า


       

        ภายในงานยังได้จัดให้มีการแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมชุด ”โฮมดินถิ่นอีสาน” โดยนักแสดงเครือข่ายนาฏศิลป์จังหวัดขอนแก่น  พร้อมการจารึกชื่อบนแผ่นดินเหนียวของประธานและแขกผู้มีเกียรติเพื่อนำไปจัดแสดงเป็นที่ระลึกในพิธีเปิด จากนั้น รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ได้นำดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้ร่วมงานเดินชมผลงานนิทรรศการ  โดยมีศิลปินเจ้าของผลงานคอยให้คำแนะนำถึงที่มาและความหมายของผลงาน ซึ่งประธานได้เดินชมและพูดคุยซักถามกับศิลปินเจ้าของผลงานด้วยความสนใจ รวมทั้งการเข้าชมกระบวนการแกะสลักสร้างผลงานประติมากรรมรูปพญานาค15ตระกูลตามตำนานการกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์อีสานลาวอันมาจากไม้เนื้อแข็งที่ล้มตายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ไม้อีทึก(พฤกษ์) และ ไม้แดง แกะสลักโดยฝีมือช่างฝีมือพื้นถิ่นอีสาน เพื่อเป็นการสร้างจุดสนใจใหม่บริเวณริมบึงสีฐานฝั่งตะวันตก และยังเป็นการสืบสานผลงานช่างฝีมือพื้นถิ่น เพื่อจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมราวเดือนพฤศจิกายนนี้


ข่าว/ภาพ อุดมชัย สุพรรณวงศ์

Scroll to Top