……….เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. – 16.00 น. อาจารย์ ดร.จิราธร ชาติศิริ อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการบรรยายแนะแนวอาชีพ ได้นำนักศึกษาที่สนใจทุกชั้นปี มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนกว่า 20 คน เข้าร่วมโครงการบรรยายแนะแนวอาชีพ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) เกี่ยวกับการคิด การเขียน การสร้างคอนเทนต์ พร้อมข้อคิดและแนวทางในการเป็นสื่อที่ดีของสังคม โดยได้รับเกียรติบรรยายและแนะแนวอาชีพจากวิทยากร คุณก้อง “ทรงกลด บางยี่ขัน” นักเขียนชื่อดังและเป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสาร A day ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการเว็บไซต์ The Cloud ดำเนินรายการโดย นางสาวทิตาวีร์ การรัมย์ นักศึกษาสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
……….โครงการบรรยายแนะแนวอาชีพครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อมอบความรู้และทักษะการสร้างงานเขียนที่ดีผ่านการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และเป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าร่วมมองเห็นแนวทางในการพัฒนาสื่อและงานเขียนของตนเองให้สามารถนำไปต่อยอดสู่อาชีพในอนาคตได้ สาระสำคัญในประเด็นแรกจากการบรรยายว่าด้วยเรื่อง การสร้างคอนเทนต์ คุณก้องได้กล่าวส่วนนี้ไว้ว่า “ คอนเทนต์งานทุกอย่าง มันต้องเกิดจากการตั้งคำถามเป็นอันดับแรก โดยที่ต้องคำนึงเสมอว่า เราจะสื่ออะไรออกไปให้ผู้อ่านได้อ่าน อะไรคือสิ่งที่ต้องเป็น และอะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่ที่ไม่ควรเขียน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็คือการตั้งคำถามนั่นเอง ”
……….“ คนส่วนใหญ่เมื่อคิดจะทำสื่อ มักเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานที่ว่า จะทำเรื่องอะไรดี ? แต่สำหรับผมจะเปลี่ยนคำถามและคิดให้ลึกกว่านั้น โดยมองไปที่ทุกสิ่งรอบตัว และตั้งคำถามใหม่ว่า อะไรกำลังเป็นกระแส แล้วถ้าเผยแพร่งานสื่อนี้ออกไป เราจะได้อะไรกลับมา แน่นอนไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทอง แต่จะทำอย่างไรให้งานเป็นที่รู้จัก เป็นผลงานที่ผู้คนจดจำ ท้ายที่สุดงานชิ้นนี้จะทำให้ผู้คน สังคมเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร นี่คือเป้าหมายในการสร้างคอนเทนต์ให้ถูกจริตของคนในสังคม เป็นสิ่งที่ผมและ The Cloud (เว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ที่มีอิทธิพลและเป็นที่รู้จักมากในยุคปัจจุบัน) ยึดถือมาตลอด ” คุณก้องกล่าว
……….นอกจากนี้คุณก้องยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากเป้าหมายการทำสื่อ คือการทำเพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน ดังนั้น “ การไปยึดติดกับตัวเลขหรือยอดผู้เข้าชมจึงไม่สำคัญกับผมมากนัก เพราะยอดวิวเยอะไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าสื่อที่ยอดคนดูน้อย แม้ว่าคอนเท้นต์จะดีแค่ไหน ต่อให้มียอดน้อย ก็ยังเป็นคอนเท้นต์ที่ดี กลับกัน หากสื่อนั้นเป็นคอนเทนต์ที่แย่ ต่อให้มียอดคนดูเยอะแค่ไหน ก็ยังถือว่าเป็นคอนเทนต์ที่แย่ ดังนั้นคุณค่าของสื่อไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขแต่ขึ้นอยู่กับว่าคอนเทนต์นั้นมีผลต่อผู้อ่านมากน้อยแค่ไหนต่างหาก ”
……….หลังจากนั้นช่วงสุดท้ายของการบรรยาย มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สอบถามข้อสงสัยและแนวทางของการคิดคอนเทนต์การผลิตสื่อต่าง ๆ มีหลากหลายคำถามที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างงานด้วยตนเอง ตัวอย่าง เช่น งานเขียนของ The clound มีจุดเด่นหรือแตกต่างจากสื่อออนไลน์อื่นๆอย่างไร ? อุดมการณ์หรือเป้าหมายของพี่ในการทำสื่อนิตยาสารออนไลน์นี้ คืออะไร ? ในฐานะที่คุณก้องอยู่ในแวดวงการเขียน มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานเขียนมานานมาก มองเห็น โอกาสการจะเป็นนักคิดนักเขียนบนโลกออนไลน์อย่างไร ? และแนวโน้มที่นิตยสารหรืองานเขียนเป็นเล่มปิดตัวลงไปมีเยอะมากในช่วงที่สื่อออนไลน์เกิดขึ้นมา แทน ถ้าหากน้อง ๆสนใจที่จะทำสื่อ ออนไลน์บ้าง จะแนะนำน้อง ๆอย่างไรบ้าง ?
……….จากคำถามทั้งหมดสามารถจับประเด็นและข้อคิดสำคัญได้ว่า “ การเป็นสื่อที่ดีผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ต่าง ๆไม่ใช่เรื่องยาก แต่จงตั้งใจทำให้ดีที่สุด ทรัพยากรเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาหรือผู้คน ดังนั้นหากมีโอกาสต้องรีบคว้าไว้และทำให้ดี ให้มันเป็นผลงานที่อยู่กับผู้คนได้ตลอดไป และมันจะมีคุณค่าที่สุดในตัวของมันเอง ”
ข่าว : ทิตาวีร์ การรัมย์ นักศึกษาฝึกสหกิจ
………..สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น