สำนักข่าว : บ้านเมือง
URL : https://www.banmuang.co.th/news/region/222270
วันที่เผยแพร่: 7 ก.พ. 2564
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อการก่อสร้างอาคาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคาร 20 ชั้นและคอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 600 เตียง กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2568
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ ลานอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอนุสรณ์(ตึกสว.) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการนี้ พระเดชพระคุณ หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก เมตตาเป็นองค์ประธานในพิธีสวดมนต์ บริเวณจุดก่อสร้างอาคาร
โดยมีรศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์พยาบาลตลอดจน บุคลากร ร่วมพิธี อย่างพร้อมเพียง
โดยพิธีสวดมนต์ในช่วงเช้า ที่ลานอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอนุสรณ์ (ตึกสว.) คณะแพทย์ฯมีหลวงปู่จื่อ วัดเขาตาเงาะอุดมพร อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เมตตาเป็นองค์ประธาน ซึ่งด้านหลังของ บริเวณพิธี คือตึกมหิตลานุสรณ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระสวามี สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นที่สังเกตว่า ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แห่งนี้มีอนุสรณ์สถานสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาในหลวงร. 9 ได้ตั้งอยู่เคียงกัน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย ความเป็นมาของการก่อสร้างการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าจากการที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์กลางรับส่งผู้ป่วยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบางส่วนของจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง แต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมากมาเข้ารับบริการ แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยใน 52,000 คนต่อปี แม้จะมีการขยายการบริการจนมีขนาด 1,400 เตียง แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 จึงได้อนุมัติหลักการให้คณะแพทยศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้และริเริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อสามารถตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เป็น ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภาคลุ่มน้ำโขงที่สามารถให้บริการอย่างเพียงพอและเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของภูมิภาค และใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข พัฒนาการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยความร่วมมือของคณะวิชาในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนสถาบันในต่างประเทศ
อาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ ประกอบด้วย อาคารสนับสนุนบริการทางการ แพทย์ อาคารจอดรถ และอาคารเรือนพักญาติ รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 197,424 ตร.ม. ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,346,357,200 บาท ภายหลังการเสร็จสิ้นโครงการจะช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมถึงลดปัญหาความไม่เพียงพอของปริมาณเตียงผู้ป่วย ในด้านการเรียนการสอนจะเพิ่มศักยภาพการผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์สาขาต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่สำคัญทางการสาธารณสุข นอกจากนี้ในด้านของการวิจัยจะสามารถนำข้อมูลจากการดูแลผู้ป่วยมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างเครือข่ายในการทำวิจัยร่วม และสร้างงานวิจัยที่แก้ปัญหาสาธารณสุขให้ประเทศได้
“อาคารศูนย์บริการการแพทย์เฉพาะทางชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็น อาคาร 20 ชั้น และคอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวน 600 เตียง กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2568”