เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 22 ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ZOOM Meeting โดย รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงาน และได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ซึ่งกิจกรรมภายในงานช่วงเช้าเป็นการมอบรางวัลดุษฎีบัณฑิตดีเด่นคณะเกษตรศาสตร์ “รางวัล ศาสตราจารย์ ดร.อารันต์ พัฒโนทัย” ประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ นางสาวพัชรา ธนานุรักษ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.อารันต์ พัฒโนทัย เป็นผู้ให้เกียรติมอบรางวัล ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง “การประยุกต์ใช้นวัตกรรมการเกษตร และการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” โดย ผศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ว่าที่ร้อยตรีหญิง นฐกมล แน่นอุดร คุณดำรง แสงโฮง และคุณประสิทธิ์ พันธุ์โบว์ ณ ห้องประชุมกวี จุติกุล อาคาร AG 08 คณะเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวว่า ดิฉันรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 22 ประจำปี 2564 ในวันนี้
ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการผู้ร่วมประชุมวิชาการเกษตรจากทุกฝ่ายได้ร่วมกันนำเสนอผลงานทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น
ก่อนการปิดงานประชุมวิชาการเกษตรครั้งที่ 22 ในครั้งนี้ ดิฉันในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุน และขอขอบคุณบุคลากรเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานทุกท่านที่ทุ่มเททำงานเพื่อให้งานประชุมวิชาการนี้ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 22 ประจำปี 2564 ในวันนี้
จากรายงานของคณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทำให้รับทราบว่าการประชุมวิชาการเกษตรเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงาน เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ผมขอเรียนว่าการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยของนักวิจัยนั้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่งและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันเป็นผลจากการวิจัย จะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้ทัดเทียมประเทศที่เจริญทั้งหลาย
ทุกท่านคงเห็นด้วยว่า ผลงานวิจัยที่ไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะนั้น เป็นความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในองค์กรที่ดำเนินการวิจัย ดังนั้นการประชุมวิชาการเกษตรในครั้งนี้ จึงเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และเป็นแนวทางในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับการที่นักวิจัยได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความสามารถลงไป
การประชุมวิชาการเกษตรประจำปี 2564 นี้ เป็นการจัดการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 22 ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงงานวันเกษตรภาคอีสาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้การสนับสนุน มาอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่ากิจกรรมนี้ จะสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
เป็นที่น่ายินดีว่าการจัดประชุมวิชาการเกษตรประจำปี 2564 นี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิจัยเกษตรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย ผมหวังว่าการพบปะกันระหว่างนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ในวันนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายนักวิจัยของผู้ที่มีความสนใจในสาขาวิชาการเดียวกันได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาโครงการวิจัยแบบบูรณาการที่สำคัญ
ท้ายที่สุด ผมในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับเจ้าของผลงานดุษฏีบัณฑิตดีเด่นคณะเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับรางวัล ศาสตราจารย์ ดร. อารันต์ พัฒโนทัย ประจำปี 2563 ซึ่งผมหวังว่า การเชิดชูเกียรติและการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัย และนักพัฒนา ในทุกระดับจะได้รับการสานต่อเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
และกิจกรรมในภาคบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ และพิธีกล่าวปิดการประชุมโดย รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งการประชุมวิชาการเกษตรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงการจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา ศิษย์เก่า เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปได้นำเสนอผลงานวิจัย วิเคราะห์ วิจารณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์สู่สาธารณชน