คอลัมน์การเมือง – ‘กัญชง-กัญชา’ พืชเศรษฐกิจ(ใหม่)ไทย

สำนักข่าว: แนวหน้า

URL: https://www.naewna.com/politic/columnist/46602

 วันที่เผยแพร่: 23 ม.ค. 2564

 นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 สาระสำคัญคือ “การปลดล็อกกัญชาและกัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด” ไม่ว่าจะเป็นใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัดเมล็ดกัญชง สารสกัด CBD และในส่วน สาร THC ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอกและเมล็ดกัญชา หลายภาคส่วนก็เริ่มขยับเดินหน้า ยกระดับพืชทั้ง 2 สู่ความเป็นพืชเศรษฐกิจ

ไล่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงาน “กัญชงลงแปลง” หรือพิธีปลูกกัญชงเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์แปลงปฐมฤกษ์ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวนคณะเกษตรศาสตร์ ซึ่ง ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับหนังสือแสดงการอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชง (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 19/2563 เมื่อเดือน ต.ค. 2563) ในการปลูก เก็บเกี่ยว หรือแปรสภาพกัญชง

โดย สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ทำงานแบบบูรณาการจากหลากหลายคณะใน ม.ขอนแก่น เกี่ยวกับกัญชงและกัญชาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ การวิจัยและพัฒนาน้ำมันสกัดตลอดจนยารักษาโรค รวมถึงการนำวัสดุเศษเหลือจากการศึกษาวิจัยไปพัฒนาเป็นอาหารสัตว์ ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 120-150 วัน นับจากการนำต้นกล้ากัญชาลงแปลง ต้นกัญชาก็จะออกดอกให้นำไปวิจัยเพื่อใช้ทางการแพทย์ต่อไป

จากนั้นในวันที่ 20 ม.ค. 2564 มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ ณ อาคาร 3 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ “กศน.” สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ขับเคลื่อน ในระยะแรกจะเน้นไปยังพื้นที่ที่มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา และจะขยายต่อไปยังผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงต่อไป

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความพยายามในการขับเคลื่อนกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ มาตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ขณะนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเห็นภาพชัดเจนขึ้น สามารถผลักดันให้มียา ซึ่งผลิตจากกัญชากระจายในสถานพยาบาลได้มากกว่า 300 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสารสกัดจากกัญชาที่มีทั้ง Cannabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinol (THC) เป็นส่วนผสมและกระจายไปยังโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

รวมทั้งมีการจัดตั้งคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศเช่นกัน และในการทำงานเข้าสู่ปีที่ 2 จะขยายผลของการใช้พืชกัญชาให้เป็นประโยชน์กระจายไปช่วยสร้างรายได้และโอกาสของเกษตรกรและประชาชน และหาสูตรยากัญชาที่หลากหลายให้เหมาะสมกับโรคและการเจ็บป่วยของคนไทย พร้อมๆ กับการวิจัยและพัฒนายาคู่ขนานกันไป เพื่อให้เกิดการยอมรับว่ากัญชามีคุณประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างแท้จริง

กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการพัฒนาหลักสูตรนี้จะผสมผสานองค์ความรู้ดั้งเดิมที่คนไทยมีประสบการณ์การใช้กัญชามาก่อน กับองค์ความรู้จากการวิจัยสมัยใหม่ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง ไม่เพียงให้ความรู้ด้านกัญชาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านการตลาดด้วย ครอบคลุมในทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่กัญชาและกัญชงมีศักยภาพ ตั้งแต่ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางตลาดให้ผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน

เรื่องราวข้างต้นนับว่าเป็น “ข่าวดี” เพราะหลังจากนี้ “กัญชา-กัญชง” คงจะกลายเป็น “พืชเศรษฐกิจ (ใหม่)” และมีผู้ได้ประโยชน์กว้างขวางตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านอาหาร ไปจนถึงธุรกิจด้านการแพทย์ แต่อีกด้านหนึ่งด้วยความที่องค์ความรู้ได้ขาดช่วงไปหลายสิบปีในยุคที่พืชทั้ง 2 ชนิดถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งผู้ผลิต จำหน่าย ครอบครองและเสพ มีความผิดตามกฎหมาย ทำให้การปลดล็อกครั้งนี้มีประเด็นให้ศึกษาเพิ่มเติม

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าผู้ปลูกกัญชาต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ได้ใบรับอนุญาตปลูกจากรัฐ ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อวางระบบให้มั่นใจว่าส่วนประกอบของกัญชาที่นำออกมาจำหน่ายเป็นของที่ปลูกอย่างถูกกฎหมาย เพราะกัญชาหากปลูกอย่างไม่ถูกต้องก็จะมีสารโลหะหนัก หรือสารกำจัดศัตรูพืชเจือปนด้วย

เช่นเดียวกับการต้องให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับปริมาณของกัญชาที่ร่างกายสามารถรับได้ ซึ่งคล้ายกับกรณีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีเกณฑ์ว่าดื่มได้กี่แก้วถึงจะเริ่มมีอาการมึนเมา เช่น เบื้องต้นแนะนำว่าไม่ควรบริโภคใบกัญชาเกิน 5 ใบต่อวัน โดยหากเป็นการกินใบสดๆ อย่างการนำไปทำสลัดอาจไม่เป็นอะไรมาก แต่หากเป็นการนำใบกัญชาไปผ่านความร้อน ก็จะเกิดสาร THC ที่มีผลให้เกิดอาการมึนเมา ดังนั้น คนที่ปรุงอาหารต้องมีความรู้และสามารถปรุงอาหารให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค

เช่นเดียวกับ ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ฝากถึงผู้ที่จะปรุงอาหารโดยใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ ว่า อยากให้เริ่มใช้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น ครึ่งใบ เพื่อดูว่าผู้ที่รับประทานไปแล้วจะเกิดผลอย่างไรกับร่างกาย เพราะบางคนแม้จะรับกัญชาในปริมาณต่ำแต่ร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรง คล้ายกับบางคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงนิดเดียวก็มีอาการมึนมาแล้ว

ส่วนผู้บริโภคนั้น “บุคคลต่อไปนี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา” ประกอบด้วย 1.ผู้ที่ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต2.ผู้ป่วยโรคหัวใจ 3.ผู้มีอายุต่ำกว่า 25 ปี 4.หญิงตั้งครรภ์ 5.หญิงที่ต้องให้นมบุตร และ 6.ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังต้องศึกษากันต่อไปว่าการบริโภคกัญชาปริมาณเท่าใดจึงจะเริ่มมีอาการมึนเมา เบื้องต้นจึงไม่แนะนำให้บริโภคแล้วขับขี่ยานพาหนะ

“ถ้ากินแล้วภายใน 4 ชั่วโมง มันก็ไม่ควรขับรถหรือยานพาหนะ อันนี้เป็นงานวิจัยในต่างประเทศ เช่น แคนาดา เราก็ Apply (ประยุกต์) บางส่วนจากองค์ความรู้ที่เขามี” ภญ.ผกากรอง ระบุ

Scroll to Top