ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย อาจารย์ประจำสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในประเทศต่างประเทศ ได้วิจัยและค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด โดยพบในไทย 2 ชนิด และในเวียดนาม อีก 1 ชนิด
โดยการพบพืชชนิดใหม่ในประเทศไทย ได้ร่วมวิจัยกับนายเสกสรร พุ่มโพธิ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มาฝึกงานด้วย ค้นพบพืชชนิดใหม่ จำนวน 2 ชนิด อยู่ในสกุลปอขี้ตุ่น (Helicteres) วงศ์ชบา (Malvaceae) พืชทั้งสองชนิดนี้ กลีบเลี้ยงมีขนสีขาวครีม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบอยู่เป็นอิสระ สีม่วง สีม่วงแกมขาว หรือสีม่วงแกมเหลือง ผลหรือฝัก สีน้ำตาล รูปขอบขนาน ผิวมีขนหนาแน่น สำหรับตัวอย่างต้นแบบแรก (holotype) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืช มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU) และตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบ (isotype) เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งขาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) และหอพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (QBG) ข้อมูลของพืชทั้งสองได้พิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 20(3) หน้า 235–243 ปี ค.ศ. 2020
รายละเอียดพืชชนิดใหม่มีดังนี้
1. ขี้อ้นลานหิน(Helicteres oblongifolia & S.Poompo) เป็นพืชกึ่งพุ่มทอดเลื้อย ใบเรียงสลับ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปขอบขนาน ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเกือบเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีขนหนาแน่น พบบริเวณลานหินที่โล่ง ในป่าผลัดใบใกล้น้ำตกสร้อยสวรรค์ จ.อุบลราชธานี คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิด ‘oblongifolia’ มาจากลักษณะของใบรูปขอบขนาน (oblong) พืชชนิดนี้มีตัวอย่าง Chantaranothai et al. 19-54 เป็นตัวอย่างต้นแบบ (type specimen)
- ขี้อ้นใบกลม(Helicteres thailandica Chantar. & S.Poompo) เป็นพืชที่มีลักษณะเด่นต่างจากชนิดอื่นในสกุลปอขี้ตุ่น โดยช่อดอกยาว รูปช่อวงแถวเดี่ยว ยาวได้ถึง 26 เซนติเมตร นอกจากนี้พืชมีใบรูปวงกลม ปลายยอดรูปกลม ก้านใบยาว มีเส้นฐานใบ จำนวน 3-5 ถึง 7 เส้น และมีกลีบดอก ยาวประมาณ 1 ซม. ผิวใบทั้งสองด้านมีขนนุ่ม พบพืชแพร่กระจายพันธุ์ตามเส้นทางไปน้ำตกสร้อยสวรรค์ ในป่าผลัดใบและป่าดิบแล้ง หมู่บ้านนาโพธิ์กลาง จ.อุบลราชธานี คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิด ‘thailandica’ เพื่อแสดงถึง ประเทศที่ไทยเป็นถิ่นที่พบ พืชชนิดนี้มีตัวอย่าง Chantaranothai et al. 19-79
ในส่วนของการพบพืชชนิดใหม่ในประเทศเวียดนามร่วมวิจัยกับ ศาสตราจารย์ Phan Ke Loc จาก VNU Hanoi University of Science (HUS), Mr Quach Van Hoi, Tay Nguyen Institute for Scientific Research (TNISR), Dalat, Lamdong และ Mr Nguyen Hoang Tuan, Hanoi University of Pharmacy (HUP) ได้สำรวจพืชบริเวณที่ลาดหินทราย ในป่าดิบเขาที่เขา Langbian ในอุทยานแห่งชาติ Bidoup-Nuiba จังหวัด Lamdong ภาคใต้ของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2559 และพบพืชชนิดใหม่ในสกุลหว้านก (Mastixia) วงศ์ Nyssaceae จำนวน 1 ชนิด นอกจากนี้ได้สร้างรูปวิธานเพื่อระบุพืชในสกุลนี้ของเวียดนาม ซึ่งมีจำนวน 3 ชนิด งานวิจัยนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 20(3) หน้า 228–234 ปี ค.ศ. 2020 รายละเอียดพืชชนิดใหม่มีดังนี้
- Mastixia lanbianensis Phan Ke Loc & Chantar. เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 30-35 เมตร ลักษณะคล้ายพืชในสกุลหว้า แต่ต่างกันที่พืชชนิดนี้มีน้ำยางขาว กิ่งอ่อนมีขน ใบไม่มีเส้นขอบใบ รังไข่มีเพียงหนึ่งช่อง (locule) เท่านั้น และผลรูปขอบขนาน คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิด ‘lanbianensis’ เพื่อแสดงถึงสถานที่พบตัวอย่างพืช สำหรับตัวอย่างต้นแบบแรกของพืช Phan Ke Loc & Quach Van Hoi P11448 เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืช Hanoi University of Science (HNU) และตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยขอนแก่น