สำนักข่าว: แนวหน้า
URL: https://www.naewna.com/sport/539763
วันที่เผยแพร่: 20 ธ.ค. 2563
เมื่อพูดถึง “พืชถิ่นเดียว (endemic species) หลายๆ คนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร ในทางวิชาการแล้ว “พืชถิ่นเดียว” หมายถึงพืชที่พบเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของโลก และมีขอบเขตการแพร่กระจายพันธุ์อย่างจำกัด ดังนั้น พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย จึงหมายถึงพืชที่พบเฉพาะในประเทศไทยที่เดียวแห่งเดียวในโลกเท่านั้น “เปราะโคราช” เป็นพืชในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia koratensis Picheans. เป็นพืชที่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2554 โดย คุณชยันต์ พิเชียรสุนทร นักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบในป่าเต็งรัง บริเวณเขาตะกุดรัง ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งตอนนั้นได้รายงานว่า พบเฉพาะบริเวณแหล่งตัวอย่างต้นแบบ (typelocality) เท่านั้น จึงเป็นพืชถิ่นเดียวของจังหวัดนครราชสีมาและถือเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า ว่านเปราะขาวหรือว่านตูบหมูขาว (Picheansoonthon, 2011) ในบทความนี้เราจะเรียกกันว่า “เปราะโคราช” อันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ที่ระบุแหล่งที่ค้นพบ “koratensis” ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบในจังหวัดอื่นๆ ของไทย
พื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพภูมิประเทศคล้ายกับเขาตะกุดรังซึ่งเป็นแหล่งตัวอย่างต้นแบบของเปราะโคราช ก็มีพืชจำพวกเปราะขึ้นอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งพบได้ทั้งป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง จากการตรวจสอบลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ “เปราะ” ที่พบ พบว่ามีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ตรงตามที่คุณชยันต์ พิเชียรสุนทรได้รายงานไว้ นั่นคือ ใบเป็นใบเดี่ยว ในหนึ่งต้นมีเพียง 2-3 ใบใบอ่อนจะม้วนเป็นรูปแตรและค่อยๆ คลี่ออกจนแนบไปกับพื้น เมื่อใบแก่จะมีแผ่นใบหนาสีเขียวเข้มหรือเขียวสลับขาว ขอบใบมีสีม่วงมีลำต้นอยู่ใต้ดิน และรากออกเป็นกระจุก ช่อสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ โคนกลีบตรงกลางมีสีเหลืองแซม โคนดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี (Picheansoonthon, 2011) ดังนั้น “เปราะ”ที่พบในพื้นที่ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชก็คือ “เปราะโคราช” นั่นเอง นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากนายชัยพร ทับทิมทองหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวงว่า “เปราะโคราช” ยังพบในพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าเขาภูหลวง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชเช่นเดียวกัน