วันที่ 1 – 3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ หรือ IASP International Association of Science Parks and Areas of Innovation) จัดงานประชุม The Virtual IASP World Conference 2020 ครั้งที่ 37 โดยมีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 350 องค์กร 76 ประเทศทั่วโลก
Mr.Paul Krutko ประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ (IASP) ในฐานะผู้จัดงาน เผยว่า “ในช่วงที่โลกเผชิญกับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 การจัดงานประชุม IASP 2020 จึงจัดโดยรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Conference) เป็นครั้งแรก โดยประเด็นหลักในปี้นี้ มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน ชุมชน ภาคเอกชนที่มีความสามารถและทักษะในระดับนานาชาติ เพื่อแบ่งป้นองค์ความรู้ แนวคิด และนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละองค์กร ตลอดจนการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการนำโครงสร้างพื้นฐาน บริการต่าง ๆ หรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีมาประยุกต์เพื่อให้ภาคเอกชนปรับตัวในภาวะวิกฤตโควิด 19”
กิจกรรมภายในงานประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การเสวนา การสัมภาษณ์ผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนนิทรรศการเสมือนจริงที่สามารถให้ผู้ที่เข้าร่วมรู้สึกเหมือนไปสถานที่จริง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเพียง 3 หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเขตนวัตกรรมนานาชาติ (IASP) ดังนี้ 1) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ 3) อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกปีแรก นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ มข. ยังได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประกวดภายใต้โครงการ Inspiring Solutions Programme เพื่อเฟ้นหาแนวคิดหรือผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาประชาคมโลก ผลการคัดเลือกประเทศไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 ผลงานที่ดีที่สุดของโลก โดยมีคู่แข่งจาก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ปากีสถาน รัสเซีย อิตาลี สเปน สวีเดน และบราซิล
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ความสำเร็จอีกขั้นของอุทยานวิทยาศาสตร์ มข.ในวันนี้ คือการที่เราได้ปักหมุดลงบนแผนที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์โลก และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เข้ารอบ 1 ใน 10 หน่วยงานที่มีผลงานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดของโลก ในโครงการประกวด Inspiring Solutions ภายใต้ผลงานที่ชื่อว่า “Maker Greenovation Platform” แนวคิดและกลไกในการสร้างผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมที่รักษ์สิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่ความยั่งยืน ผลงานนี้เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะผู้บริหารรุ่นก่อนที่เบิกทางแห่งความสำเร็จ ทั้งรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อดีตอธิการบดีม.ขอนแก่น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีม.นครพนม และศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงอว.ตลอดจนมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ และหน่วยงานเครือข่ายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ที่ผลักดันให้พวกเราก้าวสู่เวทีโลก ถือเป็นการปูทางที่สำคัญซึ่งจะทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับเครือข่ายนานาชาติ รวมทั้งขยายตลาดต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้การดูและในอนาคต ต่อไป
ติดตามผลงาน “Maker Greenovation” ได้ทางเว็บไซต์ https://www.iasp.ws หรือ Youtube Channel : IASPvisuals