เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 9.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ AI for Healthcare in the Post COVID-19 era ระยะที่ 2 โดยมี ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน รองศาสตราจารย์นวรัตน์ วราอัศวปติ เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ในการนี้มีวิทยากร คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการ เข้าร่วมกว่า 40 คน บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ นักศึกษาทางการแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมกว่า 60 คน ณ ห้องสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะเดียวกันการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ยังมี บุคลากร นักศึกษาทางการแพทย์ จากโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยสาขาการแพทย์ทั่วประเทศ บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมการอบรมทางระบบออนไลน์ Zoom Webinar กว่า 500 คน
การอบรมเชิงปฏิบัติการ AI for Healthcare in the Post COVID-19 era ระยะที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก พร้อมทั้งเป็นการฝึกปฏิบัติสร้างนวัตกรรมและทำเครื่องมือเพื่อนำไปใช้จริงในการให้บริการด้านการแพทย์ นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนานวัตกรรมทางด้านการแพทย์
ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2563 ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและประสบผลสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังไว้
“การจัดงาน AI for Healthcare in the post COVID-19 era: ระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดจากการจัดงานครั้งแรกที่ผ่านมา มีหัวข้อการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วย CIRACORE AI Platform loT การทำชุดบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย How to leverage healthcare service with chatbot (It’s all about customer journey) การเตรียมชุดข้อมูลภาพสำหรับสอน AI และการสร้าง AI for Image Analysis บนระบบ cloud การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้การสร้างนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของทำเครื่องมือและการบริการเพื่อนำไปใช้จริงด้านการแพทย์ มีกลุ่มเป้าหมายเป็น บุคลากร และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเครือข่าย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมการอบรม”ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
รองศาสตราจารย์นวรัตน์ วราอัศวปติ เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากถึง 22.24 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประเทศ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 และในปี 2567 มหาวิทยาลัยพร้อมเปิดให้บริการศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ สอดคล้องกับนโยบาย 4.0ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นด้านอิเลคโทรนิกส์อัจฉริยะและด้านการแพทย์ครบวงจร
“เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ พัฒนาทรัพยากรบุคคล จัดหาเครื่องมือทางการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความรวดเร็วในการวินิจฉัยโรค ตลอดจนการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วย ด้วยการนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยและเรียนรู้การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ด้านการแพทย์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนโฉมการรักษาจากในอดีตโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทำให้เกิดการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เร็วกว่าใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า และทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้น ฉะนั้น การจัดงาน AI for Healthcare in the Post COVID-19 era ระยะที่ 2 จึงเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ และเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เชื่อว่าการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและทำเครื่องมือเพื่อนำไปใช้จริงในการให้บริการด้านการแพทย์ต่อไป”รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2563 ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ กลุ่มสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยด้านปัญญาประดิษฐ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเหล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ บริษัทบอทไอโอ จำกัด โดยผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับหลังจากการดำเนินงานโครงการจะทำให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการส่งเสริมศักยภาพด้าน Artificial Intelligence และ เกิดนวัตกรรมการปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในการให้บริการด้านการแพทย์